วันพฤหัสบดีที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2555

บันทึกการนิเทศภายใน..หัวใจอยู่ที่เด็ก : 8

ครั้งที่ ปีการศึกษา ๒๕๕๒

          ในช่วงนี้มีหนังสือผลงานดีเด่น “Best Practice” ในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจจังหวัดชายแดนใต้ โดยสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานได้รวบรวมเรื่องดีๆเพื่อนำเสนอต่อสาธารณชนได้รับทราบอย่างทั่วถึง จึงขอคัดเลือกผลการปฏิบัติงานที่สำคัญมาเล่าสู่กันฟัง ดังนี้

          ที่โรงเรียนบ้านโกตาบารู สพท.ยะลา เขต ๑ ได้จัดทำโครงการพัฒนาการอ่านออกเขียนได้โดยใช้แบบฝึกทักษะของโรงเรียน และเน้นให้ครูสอนเป็นทีม เพื่อที่จะได้ดูแลนักเรียนอย่างใกล้ชิด สิ่งที่สำคัญก็คือ ครูทุกคนต้องให้กำลังใจแก่นักเรียน พร้อมที่จะให้นักเรียนได้เรียนรู้อย่างมีความสุข
จะร่วมกันสอนในช่วงเวลา ๑๔.๓๐ น.- ๑๕.๐๐ น. ของทุกวัน และทดสอบนักเรียนทุกสัปดาห์ นอกจากนั้น ได้ให้นักเรียนเก่ง ๑ คน ช่วยฝึกอ่านและเขียนกับเพื่อนอีก ๕ คน โดยจะช่วยสอนเวลาใดก็ได้ เช่น เวลาพักกลางวัน เป็นต้น
          ส่วนที่โรงเรียนบ้านนา สพท.สงขลา เขต ๓ ได้จัดทำโครงการสร้างวิธีคิดด้วยวิทยาศาสตร์ ซึ่งครูเฉลียว พรหมมณี ได้ใช้เทคนิควิธีการสอนที่สามารถให้นักเรียนสร้างองค์ความรู้ให้กับตนเองได้ โดยเฉพาะกระบวนการสืบเสาะหาความรู้ ๕ ขั้นตอน คือ ขั้นสร้างความสนใจ ขั้นสำรวจและค้นหา ขั้นอธิบายและลงข้อสรุป ขั้นขยายความรู้ ขั้นประเมิน เป็นการเน้นทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ นักเรียนสามารถเชื่อมโยง นำความรู้ไปใช้ในชีวิตประจำวันได้ มีการวัดผลประเมินผล ด้วยเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพ มีการผลิตสื่อการเรียนการสอนร่วมกับนักเรียนเพื่อใช้ในการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน

          ในขณะที่โรงเรียนไทยรัฐวิทยา ๕๒ สพป.ปัตตานี เขต ๒ได้มีโครงการกระบวนการเรียนรู้แบบโครงการโดยบูรณาการหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ด้วยการจัดการวัสดุที่เหลือใช้ในโรงเรียน แยกเก็บ แล้วคิดสร้างสรรค์งานใช้เอง และขายสร้างรายได้ ใช้ชีวิตอย่างเรียบง่าย โดยตระหนักและสำนึกในคุณค่าของหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

          อีกแห่งหนึ่งที่อยากจะเอ่ยถึง ซึ่งเป็นโรงเรียนในสพท.นราธิวาส เขต ๓ ของเรานี้เอง คือ โรงเรียนบ้านมะรือโบตก ที่ได้จัดทำโครงการพัฒนาการสอนที่เน้นทักษะการทดลอง โดยครูกัญญา
แสนสุข ได้เล่าไว้ว่า การเรียนรู้ที่ดี ครูควรมีวิธีและแนวทางการจัดกิจกรรมการเรียนการเรียนรู้อย่างหลากหลายโดยไม่ยึดติดรูปแบบเดิม รู้จักเปิดตนเองสู่โลกภายนอก ขยายการทำงานแบบมีเครือข่าย มุ่งให้นักเรียนได้เรียนรู้จากของจริงด้วยตนเอง พร้อมนำภูมิปัญญาท้องถิ่นเข้าสู่ห้องเรียน

          กิจกรรมที่ดีๆเหล่านี้ สามารถไปอ่านเพิ่มเติมได้ที่ http://edsouth.obec.go.th/ และหวังเป็นอย่างยิ่งว่า อีกไม่นานเกินรอเราคงได้เห็นผลการปฏิบัติงานที่สำคัญของครูโรงเรียนบ้านลูโบ๊ะกาเยาะ จะปรากฏออกมาอยู่ในหนังสือดังกล่าวบ้าง มีผลงานหลายอย่างที่เราก็ทำได้ดีเหมือนกับเขา เพียงแต่ว่า เราไม่อยากที่จะนำเสนอเท่านั้นเอง

บันทึกไว้ เมื่อวันศุกร์ ที่ ๑๑ ธันวาคม ๒๕๕๒

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น