วันเสาร์ที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2564

ปรับวิธีการเรียนรู้ใหม่..ในยุควิถีใหม่

                                

         วิถีใหม่ วิถีคุณภาพ การศึกษาขั้นพื้นฐานในยุคโควิด ๑๙ (New Normal of Learning)..เป็นผลกระทบที่ทำให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษาจะต้องปรับวิธีการเรียนรู้..ทุกหน่วยงานต้องปรับเปลี่ยนระบบการทำงาน..ทุกสถานศึกษาต้องปรับกิจกรรมการเรียนการสอนให้ยืดหยุ่นและเป็นไปตามบริบท..ปรับบ้านเป็นโรงเรียน ปรับพ่อแม่เป็นครู..ผู้ปกครองอาจต้องเพิ่มภาระมากขึ้น..ถ้อยประโยคที่ผมได้เกริ่นนำเหล่านี้ เป็นการสรุปใจความสำคัญจากที่ประชุมผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาทั่วประเทศ ผ่านระบบสื่ออิเล็กทรอนิกส์ เมื่อวันที่ ๓๐ กรกฎาคม ๒๕๖๔ โดยมีท่านดร.อัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน เป็นประธานในพิธีเปิด พร้อมชี้แจงนโยบายการบริหารจัดการศึกษาภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า ๒๕๑๙ ที่จะต้องดำเนินการจัดการศึกษาต่อไปโดยเน้นให้ทุกฝ่ายช่วยกันคิดสร้างสรรค์นวัตกรรมเป็นตัวขับเคลื่อน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความพร้อมของบริบทในแต่ละพื้นที่เป็นสำคัญ

          ประชุมออนไลน์..ประเมินออนไลน์..นิเทศออนไลน์..การสอนออนไลน์..การเรียนออนไลน์ นับจากนี้ไปเราจะได้คุ้นเคยกับวิถีใหม่ในโลกแห่งออนไลน์ชัดเจนยิ่งขึ้น อันที่จริงเราก็สัมผัสมาบ้างแล้วก่อนที่จะเจอกับโควิดที่เกิดขึ้นจากระลอกแรก เพียงแต่เราไม่ค่อยจะคุ้นชินได้มากเท่าไหร่นัก อันเนื่องจากกิจกรรมใดก็ตามแต่หากได้รวมกลุ่มได้พบหน้ากันนั้นย่อมดีกว่าและจะรู้สึกถึงความซาบซึ้งความผูกพันได้มากกว่า แต่สถานการณ์โควิดบีบบังคับเราต้องเปลี่ยนวิถีชีวิตปกติใหม่(New Normal) ให้เราต้องอยู่ในครรลองของสังคมออนไลน์โดยปริยาย ผมเคยเรียนหลักสูตรประกาศยบัตรวิชาภาษาอังกฤษเฉพาะอาชีพ(ครู) ของมสธ. ศึกษาจากบทเรียนโมดูลซึ่งมีหน่วยการเรียนรู้ที่สำเร็จรูปในตัวเองและมุ่งให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ด้วยตนเอง โดยเป็นตำราเอกสารแต่ละสาระบรรจุในแต่ละเล่มที่ค่อนข้างหนามาก แต่วันนี้ผมก็ถูกบังคับด้วยตำแหน่ง ต้องกลับมาเรียนภาษาอังกฤษอีกครั้ง แต่ข้อแตกต่างคือ เป็นบทเรียนโมดูลไร้เอกสาร (Paperless) สามารถเรียนด้วยตนเองจากสื่ออิเล็กทรอนิกส์ได้ทั้งจากเครื่องคอมพิวเตอร์หรือเครื่องโทรศัพท์มือถือ นี้คืออีกหนึ่งนวัตกรรมด้านการศึกษาที่ผมเห็นว่าเหมาะกับสถานการณ์ปัจจุบันยิ่ง ครั้นเมื่อมีโอกาสได้ต้อนรับผู้ตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการ นายณัฐพงษ์ นวลมาก ลงพื้นที่ตรวจติดตามการจัดการเรียนการสอนตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า เมื่อวันที่ ๑๒ ก.ค.ที่ผ่านมา ณ ร.ร.นิคมสร้างตนเองพัฒนาภาคใต้ ๑ จึงถือโอกาสเสนอความเห็น ๒ ประการ คือ ๑) ฝากท่านสื่อถึงรัฐมนตรีหรือรัฐบาลว่า ควรจัดสรรงบแจกแท็บเล็ตให้กับนักเรียนทุกคนเพื่อเป็นสื่ออุปกรณ์สืบค้นการเรียนรู้ อาจจะประเดิมแจกเฉพาะนักเรียนยากไร้ก่อนก็ได้หากรัฐบาลจะบอกว่างบไม่เพียงพอที่จะจัดสรรให้ทั้งหมด ๒) จัดสรรงบติดตั้งสัญญาณอินเตอร์เน็ตได้เข้าถึงทุกพื้นที่ เป็นความเห็นที่ตรงประเด็นหรือไม่หรืออาจจะมากไปในแง่ของการจัดสรรงบประมาณนั้นผมก็ไม่ทราบ แต่ผมเชื่อเหลือเกินว่าหากนักเรียนทุกคนได้รับโอกาสเท่าเทียมกันก็สามารถที่จะเรียนรู้วิชาต่าง ๆ ไปพร้อม ๆกันถึงแม้ว่าความสามารถของแต่ละคนย่อมมีความแตกต่าง แต่ทุกคนก็ย่อมมีโอกาสในเรื่องของการรับรู้ภายใต้สถานการณ์วิกฤติโดยสามารถได้ใช้สื่ออุปกรณ์ที่เหมือนกันด้วยความเสมอภาค

          ห้องเรียนกลับด้าน (Flipped Classroom)..การศึกษาโดยครอบครัว (Home School)..อีก ๒  รูปแบบการจัดการศึกษาที่เหมาะกับสถานการณ์โควิดหรือวิกฤติอื่น ๆที่อาจจะเกิดขึ้นอีกในอนาคตข้างหน้า มุมมองโดยส่วนตัวผมเห็นว่าห้องเรียนกลับด้านนั้นจะเหมาะที่สุดเมื่อโควิดเริ่มทุเลา จัดเรียนที่บ้าน ๓ วัน อีก ๒ วันมาส่งงานที่โรงเรียน พร้อมนำเสนอ อภิปราย ร่วมจัดนิทรรศการแสดงผลงานฯ ก็แล้วแต่บริบทของครูที่เป็นผู้อำนวยการสอน นี้คือบทสะท้อนอันเป็นตัวอย่างที่เราสามารถจะมาปรับเปลี่ยนประยุกต์ใช้ในการจัดการศึกษาในยุควิถีใหม่ อาจจะมีนวัตกรรมใหม่ๆมากกว่านี้อีกต้องลุ้นรอติดตามกันต่อไป แต่จะให้โควิดหมดเกลี้ยงรอเปิดห้องเรียน(On site)อย่างเดียว กว่าจะถึงวันนั้นเด็กๆของเราโดยส่วนใหญ่ก็สายไปแล้วครับที่พวกเขาจะมีโอกาสได้ตักตวงองค์ความรู้จากสื่อการเรียนรู้ในโลกดิจิทัล        

       

วันศุกร์ที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2564

เดินตามนโยบาย “เด็กไทยวิถีใหม่ อ่านออกเขียนได้ทุกคน”

  

              “เราถูกสบประมาทว่าจัดการศึกษาไม่มีคุณภาพ เราจึงต้องยกระดับการจัดการเรียนการสอนเพื่อให้เด็กไทยไม่แพ้ใครในโลก” เป็นถ้อยประโยคส่วนหนึ่งซึ่งคุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้กล่าวไว้ในที่ประชุมออนไลน์เพื่อขับเคลื่อนนโยบาย “เด็กไทยวิถีใหม่ อ่านออกเขียนได้ทุกคน” เมื่อวันที่ ๓๐ มิถุนายน ๒๕๖๔ นับว่าเป็นคำสบประมาทที่ท้าทายยิ่งให้กับเราชาวผู้นำด้านการศึกษา ไม่ว่าจะเป็นผู้นำตั้งแต่ระดับห้องเรียนคือครูผู้สอน ผู้บริหารสถานศึกษา จนถึงผู้บริหารการศึกษาในระดับเขตพื้นที่ รวมทั้งบุคลากรทางการศึกษาอื่นๆที่เกี่ยวข้องทั้งหลาย พึงต้องระดมพลังสมองที่จะต้องร่วมกันหาวิธีการที่ดีที่สุดเพื่อลบล้างคำสบประมาทดังกล่าวให้ได้

              แต่กระนั้นก็ตาม ท่ามกลางวิกฤติการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า ๒๐๑๙ กำลังบานปลายกระจายไปทั่วภูมิภาคและทุกพื้นที่ ดูเหมือนจะตอกย้ำคำท้าทายยิ่งทวีเพิ่มขึ้นเข้าไปอีก ในช่วงขณะสถานการณ์ปกติการจัดการศึกษาของเราในภาพรวมถูกประเมินคุณภาพค่อนข้างต่ำในระดับย่ำแย่อยู่แล้ว นับประสาอะไรยามเมื่อวิกฤติโควิดเข้ามาแทรกแซงจนจะจัดกิจกรรมการเรียนการสอนในห้องเรียนแบบดั้งเดิม(On site)ไม่ได้ แล้วการจัดการเรียนการสอนในรูปแบบอื่นๆจะให้เกิดคุณภาพที่ดีกว่าเดิมได้อย่างไร หากเรามองพิเคราะห์อย่างผิวเผินหรือมองคร่าวๆในแง่แห่งความเป็นจริง แต่เราทุกฝ่ายจะหยุดคิด หยุดทำและนิ่งดูดายไม่ได้ครับ เซลล์สมองของเด็กทั้งซีกขวาและซ้ายที่เหมาะกับวัยเรียนรู้ในทุกระดับต้องอับเฉาไม่ได้รับการพัฒนาไปด้วยในทันที แต่จะให้พวกเขาได้เรียนรู้ด้วยรูปแบบวิธีไหน อย่างไร สำคัญอยู่ที่เราทุกฝ่ายต่างหากจะต้องมาร่วมกันขบคิด

              ท่านดร.อัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ได้กล่าวเพิ่มเติมในที่ประชุมในครั้งนี้อย่างน่าสนใจว่า “เอกภาพในนโยบาย หลากหลายในการปฏิบัติ..ทั้งหมดเป็นหลักการ.. แต่วิธีการ อยู่ที่ บริบทของแต่ละพื้นที่”เป็นคำกล่าวที่เห็นด้วยอย่างยิ่งกับถ้อยประโยคเหล่านี้ กอปรกับบนพื้นฐานข้อเท็จจริงจากสถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้น ณ ปัจจุบัน เราจะพยายามตีห่างจากโควิด เพื่อรอคอยที่จะเปิดการจัดเรียนการสอนในห้องเรียน(On site)ให้ได้ แต่ดูท่าทีเหมือนจะหนีไม่พ้นเสียแล้ว มีแต่โควิดเข้ามาหาอยู่ใกล้เราทุกขณะ ดังนั้น เราต้องพร้อมที่จะอ้าแขนรับ พร้อมที่จะเผชิญฝ่าฟันสู้ไปด้วยกัน คิดค้นหารูปแบบหรือวิธีการสอนที่หลากหลายมาปรับประยุกต์ใช้ให้สอดคล้องกับแต่ละท้องที่ บางทีนี้คือวิกฤติที่กลายเป็นโอกาสอันยิ่งใหญ่สำหรับบางคนที่จะได้ค้นพบนวัตกรรมใหม่ๆในการจัดการเรียนการสอนในท่ามกลางวิถีชีวิตปกติใหม่(New normal) ก็อาจเป็นไปได้เสมอครับ

              กล่าวโดยสรุป ผมเชื่อมั่นในศักยภาพของครูเราครับ สามารถปรับวิธีเรียนเปลี่ยนวิธีสอนในช่วงสถานการณ์โควิดจนได้ในที่สุด และเชื่อเหลือเกินว่าในเร็วๆนี้จะได้เห็นนวัตกรรมด้านการสอนที่เป็นแบบอย่างจากครูเราแน่นอน อีกประการที่ผมอดที่จะปลื้มไม่ได้ เนื่องในโอกาสวันภาษาไทยแห่งชาติ ๒๙ กรกฎาคม ได้เห็นสถานศึกษาร่วมกันรณรงค์จัดกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการอนุรักษ์ภาษาไทย ด้วยวิธีการออนไลน์ มีการจัดกิจกรรมประกวดคัดลายมือ เขียนบทร้อยกรอง เขียนเรียงความ เขียนคำขวัญ ตอบปัญหาภาษาไทย ฯ ก็แล้วแต่ตามโอกาสที่เอื้ออำนวยหรือความสะดวกของแต่ละสถานศึกษาที่สามารถจะจัดได้ ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งที่เราได้เดินตามนโยบาย “เด็กไทยวิถีใหม่ อ่านออกเขียนได้ทุกคน” แล้วครับ