วันศุกร์ที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2564

เดินตามนโยบาย “เด็กไทยวิถีใหม่ อ่านออกเขียนได้ทุกคน”

  

              “เราถูกสบประมาทว่าจัดการศึกษาไม่มีคุณภาพ เราจึงต้องยกระดับการจัดการเรียนการสอนเพื่อให้เด็กไทยไม่แพ้ใครในโลก” เป็นถ้อยประโยคส่วนหนึ่งซึ่งคุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้กล่าวไว้ในที่ประชุมออนไลน์เพื่อขับเคลื่อนนโยบาย “เด็กไทยวิถีใหม่ อ่านออกเขียนได้ทุกคน” เมื่อวันที่ ๓๐ มิถุนายน ๒๕๖๔ นับว่าเป็นคำสบประมาทที่ท้าทายยิ่งให้กับเราชาวผู้นำด้านการศึกษา ไม่ว่าจะเป็นผู้นำตั้งแต่ระดับห้องเรียนคือครูผู้สอน ผู้บริหารสถานศึกษา จนถึงผู้บริหารการศึกษาในระดับเขตพื้นที่ รวมทั้งบุคลากรทางการศึกษาอื่นๆที่เกี่ยวข้องทั้งหลาย พึงต้องระดมพลังสมองที่จะต้องร่วมกันหาวิธีการที่ดีที่สุดเพื่อลบล้างคำสบประมาทดังกล่าวให้ได้

              แต่กระนั้นก็ตาม ท่ามกลางวิกฤติการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า ๒๐๑๙ กำลังบานปลายกระจายไปทั่วภูมิภาคและทุกพื้นที่ ดูเหมือนจะตอกย้ำคำท้าทายยิ่งทวีเพิ่มขึ้นเข้าไปอีก ในช่วงขณะสถานการณ์ปกติการจัดการศึกษาของเราในภาพรวมถูกประเมินคุณภาพค่อนข้างต่ำในระดับย่ำแย่อยู่แล้ว นับประสาอะไรยามเมื่อวิกฤติโควิดเข้ามาแทรกแซงจนจะจัดกิจกรรมการเรียนการสอนในห้องเรียนแบบดั้งเดิม(On site)ไม่ได้ แล้วการจัดการเรียนการสอนในรูปแบบอื่นๆจะให้เกิดคุณภาพที่ดีกว่าเดิมได้อย่างไร หากเรามองพิเคราะห์อย่างผิวเผินหรือมองคร่าวๆในแง่แห่งความเป็นจริง แต่เราทุกฝ่ายจะหยุดคิด หยุดทำและนิ่งดูดายไม่ได้ครับ เซลล์สมองของเด็กทั้งซีกขวาและซ้ายที่เหมาะกับวัยเรียนรู้ในทุกระดับต้องอับเฉาไม่ได้รับการพัฒนาไปด้วยในทันที แต่จะให้พวกเขาได้เรียนรู้ด้วยรูปแบบวิธีไหน อย่างไร สำคัญอยู่ที่เราทุกฝ่ายต่างหากจะต้องมาร่วมกันขบคิด

              ท่านดร.อัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ได้กล่าวเพิ่มเติมในที่ประชุมในครั้งนี้อย่างน่าสนใจว่า “เอกภาพในนโยบาย หลากหลายในการปฏิบัติ..ทั้งหมดเป็นหลักการ.. แต่วิธีการ อยู่ที่ บริบทของแต่ละพื้นที่”เป็นคำกล่าวที่เห็นด้วยอย่างยิ่งกับถ้อยประโยคเหล่านี้ กอปรกับบนพื้นฐานข้อเท็จจริงจากสถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้น ณ ปัจจุบัน เราจะพยายามตีห่างจากโควิด เพื่อรอคอยที่จะเปิดการจัดเรียนการสอนในห้องเรียน(On site)ให้ได้ แต่ดูท่าทีเหมือนจะหนีไม่พ้นเสียแล้ว มีแต่โควิดเข้ามาหาอยู่ใกล้เราทุกขณะ ดังนั้น เราต้องพร้อมที่จะอ้าแขนรับ พร้อมที่จะเผชิญฝ่าฟันสู้ไปด้วยกัน คิดค้นหารูปแบบหรือวิธีการสอนที่หลากหลายมาปรับประยุกต์ใช้ให้สอดคล้องกับแต่ละท้องที่ บางทีนี้คือวิกฤติที่กลายเป็นโอกาสอันยิ่งใหญ่สำหรับบางคนที่จะได้ค้นพบนวัตกรรมใหม่ๆในการจัดการเรียนการสอนในท่ามกลางวิถีชีวิตปกติใหม่(New normal) ก็อาจเป็นไปได้เสมอครับ

              กล่าวโดยสรุป ผมเชื่อมั่นในศักยภาพของครูเราครับ สามารถปรับวิธีเรียนเปลี่ยนวิธีสอนในช่วงสถานการณ์โควิดจนได้ในที่สุด และเชื่อเหลือเกินว่าในเร็วๆนี้จะได้เห็นนวัตกรรมด้านการสอนที่เป็นแบบอย่างจากครูเราแน่นอน อีกประการที่ผมอดที่จะปลื้มไม่ได้ เนื่องในโอกาสวันภาษาไทยแห่งชาติ ๒๙ กรกฎาคม ได้เห็นสถานศึกษาร่วมกันรณรงค์จัดกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการอนุรักษ์ภาษาไทย ด้วยวิธีการออนไลน์ มีการจัดกิจกรรมประกวดคัดลายมือ เขียนบทร้อยกรอง เขียนเรียงความ เขียนคำขวัญ ตอบปัญหาภาษาไทย ฯ ก็แล้วแต่ตามโอกาสที่เอื้ออำนวยหรือความสะดวกของแต่ละสถานศึกษาที่สามารถจะจัดได้ ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งที่เราได้เดินตามนโยบาย “เด็กไทยวิถีใหม่ อ่านออกเขียนได้ทุกคน” แล้วครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น