วันจันทร์ที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2555

"คำบอกเล่า"..ของผู้อำนวยการโรงเรียน : 6


                                                          ครั้งที่ ปีการศึกษา ๒๕๕๔

          ขอความสันติสุขจงมีแด่ทุกท่าน...บรรยากาศควันหลงจากงานวันครูอำเภอมายอ วันที่ ๑๖ มกราคม ๒๕๕๕ ณ โรงเรียนมายอ(สถิตย์ภูผา) จัดโดยชมรมผู้บริหารและครูอำเภอมายอ ขอชื่นชมว่า เป็นการจัดงานวันครูที่น่าทึ่งตระการตาสามารถรวบรวมผู้ประกอบวิชาชีพครูจากหลายหน่วยงานที่มีอยู่ในอำเภอมายอ แล้วผนึกกำลังเป็นปึกแผ่นหลอมรวมเป็นหนึ่งเดียว ซึ่งไม่ค่อยจะบ่อยนักที่ปรากฏให้เห็นในพื้นที่สามจังหวัดบ้านเราและตั้งแต่ยุบเปลี่ยนหน่วยงานสปอ.มาเป็นเขตพื้นที่การศึกษา จากการที่ผมได้สัมผัสทำงานมาหลายอำเภอและหลายเขตพื้นที่ ยังไม่เคยเห็นมีการจัดงานวันครูที่ยิ่งใหญ่อลังการในลักษณะเช่นวันนี้

          นายพิศาล อาแว นายอำเภอมายอ มาร่วมเป็นเกียรติเป็นประธานในพิธีเปิด ในขณะเดียวกัน นายนพพร มากคงแก้ว ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาปัตตานี เขต ๒ ได้เดินสายไปเยี่ยมเยียนทุกอำเภอในเขตพื้นที่เพื่อเป็นกำลังใจแด่หัวอกของคนที่เป็นครูทั้งหลาย ท่านเปรียบครูเสมือนเรือจ้าง จากฝั่งที่มีแต่คนไร้ซึ่งความหวัง อยู่ท่ามกลางความมืดมน ขาดโอกาสไม่มีความรู้และโง่เขลา แล้วนำพาผู้คนเหล่านั้นข้ามไปสู่ฝั่งที่เต็มไปด้วยความหวัง เห็นช่องทางแห่งแสงสว่าง เกิดการเรียนรู้ กลับกลายเป็นคนดี เก่ง และใช้ชีวิตอย่างมีความสุข เราทุกคนจึงควรภูมิใจที่เกิดมาได้เป็นครู นับว่าเป็นอาชีพที่มีเกียรติอย่างยิ่ง ถึงแม้เราจะอยู่หน่วยงานที่เล็ก เป็นคนเล็กๆ ไม่สามารถจะพลิกนโยบายหรือทำนโยบายด้วยตนเองเหมือนกับผู้นำระดับประเทศหรือระดับกระทรวงกรม แต่โดยหน้าที่และความรับผิดชอบ เราทุกคนสามารถที่จะสร้างคนให้เป็นคนดี เก่ง และมีสุขได้ ที่สำคัญนับจากนี้ไป เราจำเป็นที่จะต้องมารวมตัวกัน จากหนึ่งคนรวมเป็นสิบ จากหนึ่งโรงเรียนรวมเป็นหลายโรง จากหลายโรงเรียนรวมเป็นหนึ่งเขตพื้นที่ เพราะในอีกสามปีข้างหน้า ปี ๒๕๕๘ เราทุกคนต้องเตรียมตัวการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน การเรียนรู้ภาษาอย่างน้อยสองภาษาเป็นสิ่งที่หลีกหนีไม่พ้นหากทุกคนจะก้าวขึ้นบนเวทีอาเซียนอย่างพร้อมเพรียงกัน ทั้งหมดนี้เป็นข้อคิดจากท่านผอ.นพพร มากคงแก้ว ฝากไว้ให้กับครูทุกท่าน จึงได้ถอดความบันทึกไว้เพื่อให้เราได้จดจำและถือปฏิบัติตามที่ท่านแนะนำไว้

          ข้อคิดสุดท้ายเนื่องในโอกาสวันครู ขอคัดจากกระดานสนทนาเฟสบุ๊คของนายประสิทธิ์ หนูกุ้ง ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษายะลา เขต ๑ ท่านเขียนไว้ว่า “ครูคือใคร ใครคือครูในวันนี้ ครูคือสถาปนิกสร้างสังคม(เพิ่มเติมได้ครับ)” ท่านเปิดโอกาสให้สมาชิกเขียนต่อ เลยมีหลายท่านที่ได้เขียนเสริมเติมเต็ม อย่างเช่น ท่านผอ.มุคตาร์ รร.บ้านรือเปาะ สพป.นราธิวาส เขต ๓ เขียนว่า “ครูคือแบบทำให้เห็น เป็นอย่างให้ตาม นำก่อนให้เห็นมากกว่าสอนแต่วาจา” ผมจึงบอกว่า “ใช่เลย คือครูที่สังคมต้องการในวันนี้ ตัวอย่างที่ดี มีค่ากว่าคำสอน” กล่าวโดยสรุป ภาษาและเทคโนโลยีเป็นของคู่กันที่คุณครูยุคใหม่ต้องพึงเอาใจใส่ และทั้งสองเป็นสิ่งที่ทุกคนเรียนรู้กันได้ และขอแสดงความยินดีกับคุณครูรร.บ้านลางสาดทั้งสองท่านในวันนี้ที่ได้รับเกียรติบัตรและเข็มเชิดชูเกียรติครูแสนดีจากครุสภา คือ คุณครูอนุสรา แม็ง และที่ได้รับเกียรติบัตรครูดีในดวงใจเนื่องในวันครูของอำเภอมายอ คือ คุณครูเนาวรัตน์ เทพสุวรรณ

บันทึกไว้ : เมื่อวันที่ ๑๖ มกราคม ๒๕๕๕
ขอขอบคุณ : คุณสิรวีร์ โสตถิสถาวร สพป.ปัตตานี เขต ๒... ผู้เอื้อเฟื้อภาพ

"คำบอกเล่า"..ของผู้อำนวยการโรงเรียน : 5

                                                        ครั้งที่ปีการศึกษา ๒๕๕๔

          ขอความสันติสุขจงมีแด่ทุกท่าน...หลายเหตุการณ์หลากวาระที่ถาโถมเข้ามาในห้วงเวลาเดียวกัน จนมิทันจะจดบันทึกเรื่องราวเหล่านั้นได้ทั้งหมด กอปรกับข้อจำกัดในตัวผู้เขียนที่ไม่ใช่นักเขียนมืออาชีพ คิดไม่ออกว่าจะจับต้นชนปลายอย่างไรดี แต่ครั้นมีโอกาสได้สัมผัสรับฟังข้อคิดจากต้นแบบผู้นำในวงการต่างๆเมื่อเร็วๆนี้ จึงได้เกิดแรงบันดาลใจอย่างแรงกล้าที่อยากจะเล่ามาฝากถึงพวกเรา ถึงแม้ว่าจะไม่ปะติดปะต่อเขียนออกมาได้ไม่สละสลวยก็ตามที
          เมื่อวันที่ ๖ ธ.ค.๒๕๕๔ นายธีระ มินทราศักดิ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี ได้เดินทางมามายอเป็นอำเภอแรกหลังจากที่เพิ่งรับตำแหน่งมาไม่กี่วัน เพื่อมอบนโยบายให้กับหัวหน้าส่วนราชการ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน โต๊ะอีหม่าม และผู้บริหารสถานศึกษาในอำเภอมายอทุกท่าน ท่านได้นำยุทธศาสตร์ “ปัตตานีสันติสุข”ให้ทุกหน่วยงาน โดยเฉพาะข้าราชการ จะต้องทำความเข้าใจ ลดความหวาดระแวง สร้างความยุติธรรม และนำปัตตานีสันติสุขกลับคืนมาให้ได้ และบทสรุปสุดท้ายท่านได้ยึดหลักการ “คนสำราญ งานสำเร็จ” มาใช้ในการบริหารราชการอีกด้วย ทั้งนี้เพื่อให้เกิดความผาสุกแก่ประชาชน ฉันใดก็ฉันนั้น สำหรับหน่วยงานสถานศึกษาอย่างเราจะทำอย่างไรให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งนักเรียนและผู้ปกครองมีความพึงพอใจต่อการปฏิบัติงานของโรงเรียนให้ได้มากที่สุด
          ถัดมาเมื่อวันที่ ๑๒ ธ.ค.๒๕๕๔ งานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในวโรกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๗ รอบ ณ โรงแรมซี เอส ปัตตานี เป็นที่น่ายินดีที่ได้รับเกียรติจากดร.กษมา วรวรรณ ณ อยุธยา มาเป็นประธานในพิธีเปิด จากนั้นท่านได้เข้าร่วมถกเสวนาประเด็นการศึกษาในจังหวัดชายแดนใต้กับดร.รุ่ง แก้วแดง และดร.สมเกียรติ ชอบผล ท่านดร.รุ่ง ได้เกริ่นปัญหาผลสัมฤทธิ์ตกต่ำในทุกวิชาแต่เป็นที่น่าแปลกใจวิชาภาษาอังกฤษที่นี่กลับมีคะแนนสูงกว่าคะแนนเฉลี่ยโดยรวมของประเทศ ท่านดร.กษมา จึงได้เสริมว่านี่คือจุดเด่นของเราและต้องพลิกวิกฤติให้เป็นโอกาสในการที่จะเข้าสู่อาเซียน
          สุดท้ายเมื่อวันที่ ๑๓ ธ.ค. ๒๕๕๔ ผมในนามคณะครู นักเรียน และผู้ปกครอง ได้ไปต้อนรับนายพิศาล อาแว ซึ่งกลับมารับตำแหน่งนายอำเภอมายออีกครั้ง ท่านได้เน้นวิถีชีวิตเศรษฐกิจพอเพียง ประจวบเหมาะพอดีในวันที่ ๒๐ ธ.ค.นี้ ท่านจะมาตรวจเยี่ยมพื้นที่ ต.กระเสาะ พร้อมกับคณะกรรมการประเมินกำนันดีเด่น ทางโรงเรียนบ้านลางสาดของเราได้รับเกียรติจากท่านกำนันให้ไปนำเสนอผลงานเด่นของโรงเรียน นั่นคือ”ยาสีฟันสมุนไพร” รางวัลโครงงานรองชนะเลิศอันดับ ๑ ล่าสุด จากโรงพยาบาลมายอ ขอขอบคุณคณะครูและนักเรียนทุกคนที่ช่วยกันสร้างสรรค์ผลงานชิ้นนี้จนประสบผลสำเร็จ
                                                  บันทึกไว้ เมื่อวันที่ ๑๔ ธันวาคม ๒๕๕๔

"คำบอกเล่า"..ของผู้อำนวยการโรงเรียน : 4


ครั้งที่ ปีการศึกษา ๒๕๕๔
          ขอความสันติสุขจงมีแด่ทุกท่าน...วันนี้เป็นวันสิ้นปีงบประมาณ แต่ยามนี้เวลาสี่ทุ่มกว่าผมเพิ่งกลับมาถึงบ้าน มาจากศึกษาดูงานโรงเรียนต้นแบบในจังหวัดกระบี่ ยังไม่คิดที่จะพักนอน กลัวความรู้ที่ยังร้อนๆกลับกลายเป็นไอน้ำระเหยหายไปในกลีบเมฆ พร้อมหาเอกสารและเศษกระดาษที่เคยบันทึกแล้วมาเรียบเรียงจารึกเก็บไว้เป็นความทรงจำว่ามีอะไรบ้างที่เป็นปฏิบัติการสำคัญในรอบเดือนนี้
          ปฏิบัติการแรก การประชุมปฏิบัติการป้องกันและแก้ปัญหาการอ่านไม่ออกและเขียนไม่ได้ เมื่อวันที่ ๘-๙ ก.ย.๕๔ ณ โรงแรมเซาเทิร์นวิว ปัตตานี โดยผู้บริหารโรงเรียนได้รับเชิญเข้าร่วมเฉพาะวันแรกเท่านั้น นายประหยัด สุขขี รองผอ.สพป.ปัตตานี เขต ๒ ได้เล่าไว้อย่างน่าสนใจว่า สาเหตุที่ตัวท่านเองต้องอ่อนวิชาคณิตเพราะโดนครูดุด่าเกือบทุกวัน เลยทำให้มีเจตคติที่ไม่ดีต่อวิชานี้ แต่กลับมาสอนคณิตได้ดีเมื่อตอนที่มาเป็นครู เหตุเพราะไม่มีความรู้มาก่อนจึงจำเป็นต้องเตรียมตัวมาเป็นอย่างดี ในขณะที่สอนวิชาภาษาไทยกลับไม่ได้ดีด้วยเหตุที่คิดว่าเป็นวิชาเอกที่ได้ร่ำเรียนรู้มาจึงไม่ต้องเตรียมตัวแบบเข้าห้องสอนได้เลยจนลืมขั้นตอนที่สำคัญไป
          ปฏิบัติการที่สอง โครงการการพัฒนาศักยภาพบทบาทคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน เมื่อวันที่ ๒๒-๒๓ ก.ย.๕๔ ณ หาดแก้วรีสอร์ท สงขลา นายนพพร มากคงแก้ว ผอ.สพป.ปัตตานี เขต ๒ ได้สรุปสามเสาหลักที่สำคัญในการจัดการศึกษาให้ประสบผลสำเร็จนั่นคือ เขตพื้นที่ โรงเรียน และชุมชน ในขณะที่ผศ.ดร.เครือศรี วิเศษสุวรรณภูมิ วิทยากรจากมอ.ปัตตานี ทิ้งประเด็นให้ทุกคนได้ขบคิดว่าทำไม “เด็กไทยเก่งเป็นกระจุก แต่โง่เป็นกระจาย” จึงฝากความหวังให้กับสามประสานดังกล่าวว่าจะทำอย่างไร หากยังปล่อยเป็นเช่นนี้ บนเวทีอาเซียนเราไม่มีโอกาสที่จะได้เป็นผู้นำแน่นอนหรือไม่ก็ตกขอบเวทีโลกไปเลย
          ปฏิบัติการสุดท้าย การอบรมพัฒนาผู้บริหารสถานศึกษา/ศึกษาดูงานโรงเรียนต้นแบบในสพป.กระบี่ เมื่อวันที่ ๒๙-๓๐ ก.ย.๕๔ นายเรวัต มะลิสุวรรณ ผอ.รร.บ้านคลองไคร ได้ฝากข้อคิดให้กับผู้บริหารทุกท่านที่มาในวันนี้ว่า การที่จะเข้าสู่โรงเรียนคุณภาพได้นั้นเราจำเป็นที่จะต้องมีการเปลี่ยน นั่นคือ เปลี่ยนตัวเราเอง เปลี่ยนตัวครู และเปลี่ยนตัวนักเรียนให้ได้ อ่านหนังสืออย่างเดียวเราจะได้แค่ความรู้ ต้องออกไปดูข้างนอกบ้างเพื่อให้ได้พบกับประสบการณ์จริง
          ขอจบลงท้ายด้วยวันสิ้นปีงบประมาณอีกครั้ง ยังคงมีอีกหลายท่านเหมือนกับผมที่เพิ่งรู้ว่า สาเหตุปีงบประมาณของประเทศไทยเราต้องเริ่ม ๑ ตุลานั้น เพื่อให้ตรงกับความเหมาะสมของสังคมเกษตรกรรมในสมัยก่อนที่ควรออกปลายหน้าฝนแล้วก็ให้ทันใช้ในหน้าหนาวและหน้าแล้งต่อ เป็นการบอกเล่าต่อจากดร.วิษณุ เครืองาม ด้วยความที่เราอยู่หน่วยงานราชการควรที่พึงทราบที่มาที่ไป พบกันใหม่ในปีงบประมาณใหม่
                                             บันทึกไว้เมื่อวันที่ ๓๐ กันยายน ๒๕๕๔

วันอังคารที่ 24 เมษายน พ.ศ. 2555

"คำบอกเล่า"..ของผู้อำนวยการโรงเรียน : 3

                                                        ครั้งที่ ปีการศึกษา ๒๕๕๔          
          ขอความสันติสุขจงมีแด่ทุกท่าน...เมื่อวานนี้ เป็นวันอีดิลฟิตรี ฮิจเราะห์ศักราช ๑๔๓๒ วันที่เราได้เห็นภาพพี่น้องมุสลิมทั่วโลกร่วมเฉลิมฉลองกันหลังจากร่วมกันถือศีลอดในเดือนรอมาฎอนที่เพิ่งผ่านพ้นไป ยุคไอทีหรือยุคเทคโนโลยีสารสนเทศได้ย่อโลกของเรายิ่งแคบลงอย่างไม่น่าเชื่อ กลายเป็นหมู่บ้านโลก(Global village) หมู่บ้านหนึ่งซึ่งทำให้ผู้คนทั่วสารทิศสามารถติดต่อสื่อสารและเห็นภาพซึ่งกันและกันได้อย่างทั่วถึงและรวดเร็วทันใจด้วยระบบอินเตอร์เน็ทหรือไซเบอร์โฮม
          เราคงจะได้พบเจอนวตกรรมสิ่งใหม่ๆอีกมากมายที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งเป็นสิ่งที่ท้าทายและกดดันให้กับคุณครูหรือบรรดาผู้ที่เป็นอาจารย์ผู้สอนอย่างยิ่ง จริงๆแล้วหากย้อนกลับไปในอดีตเพียงไม่กี่ปีนี้เอง เรามีแค่คุณครูได้อยู่ในห้องเรียน มีตำราได้สอน ก็เห็นเพียงพอแล้วที่จะปั้นลูกศิษย์ของเราให้เป็นคนเก่งคนดี แบบว่านอนสอนง่ายเป็นคนที่ไม่ดื้อรั้น แต่ครั้นในปัจจุบัน ตั้งแต่โลกก้าวหน้ามีนวตกรรมทางด้านเทคโนโลยีเข้ามาแพร่กระจาย กลายเป็นดาบสองคมให้กับทุกสังคมโดยปริยาย เพราะสิ่งที่หลั่งไหลเข้ามาพร้อมกับความก้าวหน้าของเทคโนโลยีนั้น เป็นทั้งองค์ความรู้อันหลากหลายที่ให้ประโยชน์มากมาย และเป็นทั้งสิ่งชั่วร้ายอบายมุขที่ให้โทษแก่เราปะปนกัน ดังนั้น เราในฐานะที่เป็นครูผู้สอนจะหยุดนิ่งอยู่กับที่ไม่ได้อีกแล้ว ต้องปรับปรุงพัฒนาตนเองก้าวไปข้างหน้าพร้อมๆกัน หากไม่เช่นนั้นแล้วเราคงจะตามลูกศิษย์ลูกหาของเราไม่ทัน
          จากประสบการณ์การสอนในหลายปีที่ผ่านมา ผมมักจะบอกและแนะนำทั้งลูกศิษย์และเพื่อนร่วมงานอยู่เสมอว่า นอกจากทุนความรู้เดิมที่เราได้เรียนรู้มา ไม่ว่าใครจะไปจบสาขาอะไรก็แล้วแต่ ยังมีอีกสองเรื่องที่เราต้องเรียนรู้เสริมเพิ่มเติมให้กับตนเองเพื่อเตรียมการรองรับการเป็นพลเมืองอาเซียนและพลเมืองโลก นั้นก็คือ ภาษาและเทคโนโลยี ใครเก่งหลายภาษาย่อมมีภาษี ใครเก่งเทคโนโลยีย่อมได้เปรียบ ทั้งคู่จึงเป็นเสมือนกับขนมปาท่องโก๋ซึ่งดูแล้วจะแยกออกจากกันไม่ได้ แต่ทั้งสองเรื่องนี้เป็นสิ่งที่ใครๆก็สามารถฝึกฝนและเรียนรู้กันได้ ไม่จำกัดเพศไม่จำกัดวัย อยู่ที่ความตั้งใจและมุ่งมั่น ขอเพียงแค่ให้เราได้เรียนรู้อยู่ทุกวันเหมือนกับนักเรียนได้เรียนรู้ภาษาสัมพันธ์ วันละประโยคในยามเช้า แรกเริ่มอาจจะยังไม่เข้าใจ แต่หากได้เปิดโอกาสปล่อยให้ฝึกซ้ำๆ นานวันจะซึมซับไปเอง
          จึงขอขอบคุณคุณครูผู้ที่เป็นต้นคิด เพ่งพินิจดูทิศทางการแถลงนโยบายของรัฐบาลชุดใหม่ หนึ่งในสามของจุดมุ่งหมายสำคัญก็ยังไม่พ้นการประกาศนำประเทศไทยเตรียมความพร้อมก้าวสู่เป็นประชาคมอาเซียน โดยจะพัฒนาคุณภาพการศึกษาด้วยการส่งเสริมรักการอ่าน เน้นให้คนไทยมีโอกาสได้เรียนรู้ทั้งภาษาอังกฤษและภาษาเพื่อนบ้าน เพื่อพัฒนาสถานศึกษาเข้าสู่สากล และมีการสนับสนุนเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการศึกษาด้วยการแจกแท็บเล็ทให้กับนักเรียนพร้อมจัดหาอินเตอร์เน็ทที่มีความเร็วสูง แม้จะมีการถกเถียงวิพากษ์วิจารณ์กันถึงข้อดีข้อเสีย แต่ข้อเท็จจริงก็คือ ใครหรือโรงเรียนใดที่เตรียมตัวพร้อมมาก่อนเท่านั้นที่จะได้เปรียบรับอานิสงค์จากนโยบายอันนี้

บันทึกไว้: เมื่อวันที่ ๓๑ สิงหาคม ๒๕๕๔

"คำบอกเล่า"..ของผู้อำนวยการโรงเรียน : 2

ครั้งที่ ปีการศึกษา ๒๕๕๔

          ขอความสันติสุขจงมีแด่ทุกท่าน...กาลเวลาก็เหมือนกับสายน้ำที่ไม่เคยรอใคร ในวันจันทร์ที่จะถึงนี้เป็นวันที่พี่น้องมุสลิมจะเริ่มถือศีลอดร่วมกันอีกครั้ง ยังจำได้ว่าในวันที่ผมมารับตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านลางสาดนั้น เหลือเวลาเพียงแค่อีกหนึ่งวันก็จะเข้าสู่เดือนรอมาฎอน นั่นแสดงว่าผมได้มาอยู่ที่นี่ครบรอบหนึ่งปีพอดีตามปฏิทินอิสลาม เวลาช่างรวดเร็วเหลือเกินเป็นเหมือนกับเทคโนโลยีที่มีความเร็วสูงจนเราจะปรับตัวก้าวตามไม่ทัน
          แต่กระนั้นก็ตาม เราทุกคนต่างก็ไม่เคยละทิ้งในภาระหน้าที่ สำนึกความรับผิดชอบที่มีต่อนักเรียน สำหรับหัวอกของคนที่เป็นครูอย่างแท้จริงนั้น ผมเชื่อมั่นเหลือเกินว่า ทุกคนมีอยู่เต็มหัวใจ ผมขอขอบคุณเพื่อนครูทุกท่านที่ได้เอาใจใส่และดูแลนักเรียนของเราได้เป็นอย่างดีมาโดยตลอด รวมทั้งได้ร่วมกันคิด ร่วมกันทำ เพื่อนำผลงานที่ดีเลิศของโรงเรียนไปประชาสัมพันธ์ในงานมหกรรม “ชบาเบ่งบาน การศึกษาปัตตานี” ครั้งที่ ๓ เมื่อวันที่ ๒๘ – ๓๐ กรกฎาคม ๒๕๕๔ ณ สวนสมเด็จพระศรีนครินทร์ จ.ปัตตานี โดยเฉพาะในวันที่ ๒๘ กรกฎาคม นั้น ทั้งนักเรียนและคุณครูทุกท่านได้ไปร่วมกันสาธิตการประดิษฐ์ดอกไม้จากเศษวัสดุที่เหลือใช้ให้กับบรรดานักเรียนและคณะครูจากโรงเรียนต่างๆ ในจังหวัดปัตตานี ถือว่าเป็นแบบอย่างที่ดียิ่ง แต่ที่สำคัญกว่านั้น เราได้ทั้งมิตรภาพและเครือข่ายที่เพิ่มขึ้น พูดถึงเครือข่ายแล้วผมก็อดที่จะบอกกล่าวไม่ได้กับความดีอีกหลายเรื่องที่คุณครูของเราได้กระทำลงไป ในบางเรื่องนั้นปฏิบัติได้อย่างรวดเร็วและถูกต้องจนเพื่อนครูในศูนย์เครือข่ายด้วยกันมาขอคำแนะนำและเอาเป็นแบบอย่าง จึงขอชื่นชมเป็นพิเศษ และขอให้ท่านได้รักษาความดีนี้ตลอดไป
          อีกเรื่องหนึ่งที่ผมจะขอเล่าต่อ เป็นควันหลงจากงานชุมนุมลูกเสือจังหวัดชายแดนภาคใต้ ครั้งที่ ๗ เมื่อวันที่ ๑๑ – ๑๖ กรกฎาคม ๒๕๕๔ ณ ค่ายลูกเสือไทยเฉลิมพระเกียรติ อ.ห้วยยอด จ.ตรัง โดยมีลูกเสือ เนตรนารี และผู้บังคับบัญชา ทั้งจากประเทศไทยและมาเลเซีย เข้าร่วมทั้งหมด ๒,๑๓๒ คน ผมไปในฐานะเป็นหนึ่งในคณะกรรมการฝ่ายพิธีการ ได้ทำการแปลเอกสารที่เป็นคำกล่าวรายงานทั้งพิธีเปิดและพิธีปิด และเอกสารอื่นๆที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนถึงเป็นพิธีกรในภาคภาษาอังกฤษ จะเห็นได้ว่า กิจกรรมลูกเสือนี้ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งเพื่อการรองรับการก้าวเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ภายในปี ๒๕๕๘ ไปแล้ว จึงอยากฝากคุณครูและนักเรียนทุกคนว่า วันนี้เราได้เตรียมตัวแล้วหรือยัง และเตรียมความพร้อมได้มากน้อยแค่ไหนเพื่อที่จะอ้าแขนรับกับความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้นี้
          หวังเป็นอย่างยิ่งว่ากิจกรรม”ภาษาสัมพันธ์...วันละประโยค” จะเป็นจุดประกายเริ่มต้นที่เราทุกคนจะได้ตระหนักถึงความสำคัญของการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ขอขอบคุณอีกครั้งกับคุณครูทุกท่านที่ได้ร่วมกันริเริ่มและปฏิบัติอย่างเอาจริงเอาจัง ทั้งนี้เพื่อ “เด็กตานี มีอนาคต” ตามยุทธศาสตร์ ๑๒ วาระตานี ของนายนิพนธ์ นราพิทักษ์กุล ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานีคนปัจจุบัน

บันทึกไว้ เมื่อวันที่ ๓๐ กรกฎาคม ๒๕๕๔

วันจันทร์ที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2555

"คำบอกเล่า"..ของผู้อำนวยการโรงเรียน : 1

ครั้งที่ ปีการศึกษา ๒๕๕๔
          ขอความสันติสุขจงมีแด่ทุกท่าน ข้อความที่ท่านกำลังอ่านอยู่ขณะนี้เป็นคำบอกเล่าของ ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านลางสาดที่ได้ลาดตระเวนไปเสาะแสวงหาองค์ความรู้จากหลายๆแหล่ง จึงอยากแบ่งปันเรียงร้อยเป็นถ้อยคำมาฝากให้กับเพื่อนครูได้รับอ่านบ้าง โดยได้หยิบบางประเด็นที่สำคัญอันเกี่ยวข้องกับวิชาชีพครูเป็นหลัก

          ในรอบเดือนนี้ ผมมีโอกาสได้เข้าร่วมประชุมผู้บริหารสถานศึกษาในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้ เมื่อวันที่ ๘ มิถุนายน ณ โรงแรมซีเอส ปัตตานี ไปฟังวาระสำคัญจากดร.ชินภัทร ภูมิรัตน เลขาธิการ กพฐ. ในเรื่องการหาแนวทางการจัดการศึกษาจังหวัดชายแดนใต้ ปีการศึกษา ๒๕๕๔ เพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษาทั้งระบบและยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนให้สูงขึ้น เกือบหนึ่งชั่วโมงของการบรรยาย ท่านมักจะอ้างงานวิจัยประกอบการบรรยายโดยตลอด มีงานวิจัยจากต่างประเทศชิ้นหนึ่ง ซึ่งได้ข้อค้นพบว่า เด็กนักเรียน ๒ คน อายุ ๘ ขวบ มีภูมิหลังที่เหมือนกัน เมื่อคนหนึ่งมีโอกาสได้เรียนกับครูเก่ง คือครูมืออาชีพ และอีกคนหนึ่งเรียนกับครูอ่อน ซึ่งหมายถึงคนที่ทำงานอาชีพครู แล้วไม่กระตือรือร้นที่จะเรียนรู้พัฒนาตนเองเพิ่มเติม ปรากฏว่าเพียงแค่ระยะเวลา ๓ ปี คนที่เรียนกับครูเก่ง มีความก้าวหน้าห่างไกลจากคนที่เรียนกับครูอ่อนถึง ๕๐ เปอร์เซ็นต์ไตล์ จากงานวิจัยดังกล่าว ผมจึงอยากฝากข้อคิดให้กับเพื่อนครูได้รับทราบว่า ไม่ว่านักเรียนของเราจะอ่านออกหรือเขียนไม่ได้ ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนจะสูงหรือต่ำ หัวใจสำคัญนั้นอยู่ที่ การดูแลเอาใจใส่ของคุณครู ซึ่งเป็นคำตอบสุดท้าย ดังข้อความที่ท่านเลขาฯ กพฐ. ได้ยกอ้างไว้ว่า “You can’t improve student learning without improving instruction"อีกประเด็นหนึ่งที่สำคัญซึ่งจะต้องบันทึกไว้เพื่อเป็นความภาคภูมิใจแก่ชาวลางสาดทุกคน นั้นคือ การแข่งขันทักษะวิชาการระดับศูนย์เครือข่ายกูวิงตรัง เมื่อวันที่ ๒๙ มิ.ย.๒๕๕๔ นักเรียนของเรามีความสามารถได้รับรางวัลชนะเลิศ จำนวน ๒ รายการ รองชนะเลิศ อันดับ ๑ จำนวน ๒ รายการ และรองชนะเลิศ อันดับ ๒ อีกจำนวน ๓ รายการ เป็นการแสดงศักยภาพทั้งของนักเรียนและคณะครูทุกคนที่ได้ร่วมกันเสียสละ ทุ่มเทกำลังกายและกำลังทรัพย์ นับว่าคุ้มค่ากับผลที่ได้รับและแม้จะมีบางรายการต้องพลาดไปบ้าง อย่างน้อยก็เป็นประสบการณ์ที่เราควรจดจำไว้ แล้วจงเตรียมพร้อมค่อยมาสู้กันใหม่ในโอกาสต่อไป ขอเป็นกำลังใจพร้อมที่จะยืนอยู่เคียงข้างตลอดเวลา

          นี้คือข้อความที่เป็นคำบอกเล่าฉบับปฐมฤกษ์ ตั้งใจแล้วว่าจะเขียนให้ได้อย่างสม่ำเสมอ เมื่อได้ไปค้นพบเจอะเจอสิ่งดีๆที่แห่งไหน “มีดต้องลับเรื่อยๆเพื่อให้ได้คมฉันใด ปากกาก็ต้องหยิบมาเขียนบ่อยๆเพื่อลับสมองให้เกิดข้อคิดมากขึ้นฉันนั้น” จะมาเล่าสู่กันฟังอีกเรื่อยๆ ในวาระต่อไป

บันทึกไว้ เมื่อวันที่ ๓๐ มิถุนายน ๒๕๕๔

วันพฤหัสบดีที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2555

บันทึกครั้งสุดท้าย..ที่ลูโบ๊ะกาเยาะ

          บันทึกจากใจฝ่ายบริหาร...อันที่จริงแล้ว ทั้งผู้บริหารสถานศึกษาและครูต่างก็เป็นผู้นำทางด้านการศึกษา แต่การจะให้คุณครูเป็นผู้นำทางด้านการศึกษาที่ดีได้นั้น สำคัญอยู่ที่ผู้บริหารต้องตระหนักในเรื่องงานวิชาการเป็นหลัก หากคิดที่จะร่วมกันขับเคลื่อนงานการศึกษามุ่งเข้าสู่โรงเรียนคุณภาพ ให้เป็นที่ยอมรับจากทุกฝ่าย “ครูจำเป็นต้องสร้างนักเรียนให้ดี เก่ง และมีสุขฉันใด ผู้บริหารก็ต้องสร้างครูดี เก่ง และมีสุขฉันนั้น
          บันทึกการนิเทศภายใน “หัวใจอยู่ที่เด็ก” ถือว่าเป็นการนิเทศแบบกัลยาณมิตรอีกรูปแบบหนึ่ง ซึ่งทางทีมงานฝ่ายบริหารโรงเรียนบ้านลูโบ๊ะกาเยาะพยายามที่จะนำประสบการณ์ความรู้และข้อคิดเห็นที่ดีๆจากแหล่งเรียนรู้ที่หลากหลายมาเล่าสู่กันฟัง ด้วยความตั้งใจอย่างแน่วแน่ที่อยากจะให้คุณครูทุกท่านเป็นผู้นำทางด้านการศึกษา โดยเฉพาะเป็นผู้นำในห้องเรียนเพื่อที่จะนำพานักเรียนออกไปสู่โลกทัศน์ที่กว้างไกล สามารถอ่านเขียน คิดวิเคราะห์และเรียนรู้ด้วยตนเองตลอดไป
          ผู้เขียน...ในฐานะที่ได้รับมอบหมายดูแลรับผิดชอบฝ่ายงานวิชาการ ฝ่ายงานนโยบายและแผน และฝ่ายงานบริหารงานทั่วไปของโรงเรียนบ้านลูโบ๊ะกาเยาะ
          ขอขอบคุณุณอาแซ ดอแม ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านลูโบ๊ะกาเยาะ ที่เปิดโอกาสให้บริหารงานฝ่ายต่างๆได้อย่างอิสระ ท่านให้ความสำคัญกับงานด้านวิชาการเป็นพิเศษพร้อมที่จะนิเทศคุณครูได้ทุกที่ทุกเวลา อีกทั้งเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงที่มักจะสอนคนอื่นเป็นผู้นำที่ดีได้ด้วย
          ขอขอบคุณคุณครูอับดุลลาเตะ ดือเระ หัวหน้าฝ่ายงานนโยบายและแผน ที่ได้นำนโยบายและแผนงานทั้งของโรงเรียนและหน่วยงานเหนือมาสู่ภาคปฏิบัติ สำเร็จลุล่วงเป็นไปตามเป้าหมาย
          ขอขอบคุณคุณครูสุดใจ แอสะ หัวหน้าฝ่ายงานวิชาการ ที่ได้ร่วมกันคิด ร่วมกันทำ ร่วมกันปรึกษาหารือมาโดยตลอด เพื่อที่จะขับเคลื่อนงานวิชาการของโรงเรียนให้มีความก้าวหน้า
          ขอขอบคุณคุณครูปฏิญญา ลามะทา หัวหน้าฝ่ายงานบุคคล ที่ได้ยึดหลักระบบคุณธรรมในการบริหารงานบุคคลมาต่อเนื่อง และที่สำคัญได้ช่วยขัดเกลาภาษาให้สละสลวยสวยงามยิ่งขึ้นจนทำให้ผู้เขียนพกความมั่นใจพร้อมที่จะนำเสนอต่อผู้อ่านในทุกระดับ
          ขอขอบคุณคุณครูศรินยา ทวีลาศ หัวหน้าฝ่ายงานการเงินและสินทรัพย์ ที่ได้เอื้อเฟื้อข้อมูลจากสิ่งตีพิมพ์ต่างๆไม่ว่าจะเป็นหนังสือพิมพ์ วารสาร หรือนิตยสาร
          ขอขอบคุณคุณครูยูไนน๊ะ แยบรอแย หัวหน้าฝ่ายงานบริหารงานทั่วไป ที่ได้ป้อนข้อมูลจากงานธุรการโรงเรียนได้อย่างรวดเร็วและฉับไว
          และสุดท้ายขอขอบคุณคุณครูโรงเรียนบ้านลูโบ๊ะกาเยาะทุกท่านที่ได้ติดตามอ่านบันทึกการนิเทศภายใน“หัวใจอยู่ที่เด็ก” แล้วสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ต่อไป นั้นคือความสุขที่ยิ่งใหญ่ที่มาจากใจจริงของทีมงานฝ่ายบริหารโรงเรียนบ้านลูโบ๊ะกาเยาะ

บันทึกไว้ในวันสุดท้ายของนายตอฮีรน หะยีเลาะแม ณ โรงเรียนบ้านลูโบ๊ะกาเยาะ "ที่จะเก็บไว้เป็นความทรงจำตลอดไป" August 09,2010

บันทึกการนิเทศภายใน..หัวใจอยู่ที่เด็ก : 9

ครั้งที่ ปีการศึกษา ๒๕๕๒

          "เงินหรืองบประมาณเพื่อการศึกษา ไม่ใช่สิ่งรับประกันความสำเร็จของนักเรียน ปัจจัยที่สำคัญที่สุดต่อความสำเร็จของนักเรียนคือ...ครูที่ดี” นี่คือคำกล่าวของนายอีริค ฮานูเชค นักการศึกษาชาวอเมริกัน ด้วยความเห็นที่ตรงกันจึงขอเก็บมาเขียนเป็นการเกริ่นนำ เพื่อเน้นย้ำให้เราในฐานะที่เป็นครู ได้ร่วมกันตระหนักและรับรู้ถึงมุมมองจากสังคมภายนอก

          ยังมีนักการศึกษาหรือนักวิชาการอีกหลายท่านที่เห็นพ้องต้องกันว่า การจัดการศึกษานั้น ถึงจะมีหลักสูตรกี่หลักสูตร และจะต้องปฏิรูปการศึกษาอีกสักกี่ครั้ง แต่หัวใจหลักก็ยังคงอยู่ที่ตัวครู คือต้องปฏิรูปครูเป็นอันดับแรก เพราะทุกคนเขาเห็นว่าครูเป็นแม่พิมพ์ หรือเป็นต้นแบบที่ดีที่สุดให้นักเรียน จากเป้าหมายของมาตรฐานการศึกษาแห่งชาติที่ต้องการเห็นนักเรียนดี เก่ง และมีสุข ฉันใดก็ฉันนั้น ครูก็ต้องดี เก่ง และมีสุขเช่นเดียวกัน นั่นหมายความว่าทุกอย่างจะต้องเริ่มต้นจากครูเสียก่อน ดังนั้นสิ่งสำคัญที่เป็นอันดับแรกสุดของคนที่เป็นครูก็คงไม่พ้นกับการที่จะต้องประพฤติตนเป็นแบบอย่างที่ดีในทุกๆเรื่องทั้งต่อลูกศิษย์และต่อสาธารณชนให้ได้ เหมือนคำกล่าวที่ว่า “ตัวอย่างที่ดีมีค่ากว่าคำสอน” หรือ “การสอนที่ดีที่สุดนั้น คือ การทำให้เห็นเป็นตัวอย่าง”

          เนื่องในโอกาสวันครูแห่งชาติประจำปี 2553 ที่จะมาถึงในวันที่ 16 ม.ค.นี้ จึงขอนำคำกล่าวของนายเฉลียว อยู่สีมารักษ์ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ มาฝากเพิ่มเติมว่า “ขอให้ครูทุกคนปฏิบัติตนเป็นครูที่ดี โดยยึดหลักจรรยาบรรณของการประกอบวิชาชีพครู เพื่อให้สถาบันของครูเป็นที่ยอมรับของสังคมมากขึ้น เพราะสังคมปัจจุบันอาจจะมองว่าอาชีพครูในปัจจุบันขาดความนับถืออยู่บ้าง นอกจากนั้นต้องพัฒนาตนเองอย่างสม่ำเสมอ ทั้งด้านเทคโนโลยีและองค์ความรู้ใหม่ๆ เพื่อมาสอนลูกศิษย์นอกเหนือจากการเข้ารับการอบรมพัฒนาครูทั้งระบบ รวมถึงการเป็นแบบอย่างที่ดีในทุกๆ ด้าน และที่สำคัญครูจะต้องสอนเด็กไม่ใช่เพียงแค่สอนหนังสือ เพราะการสอนเด็กหรือสอนคนนั้นเป็นการสอนให้ได้รับทั้งความรู้ ความประพฤติ จริยธรรม คุณธรรมให้แก่เด็ก แต่การสอนหนังสือคือการสอนไปตามเนื้อหาที่มีอยู่ในหนังสือเท่านั้นเพราะ การอบรมให้ผู้เรียนในทางที่ดีนั้นจึงจะเรียกว่าครูอย่างแท้จริง”

          และขอจบท้ายด้วยคำขวัญวันครูแห่งชาติ ประจำปี ๒๕๕๓
          “น้อมจิตวันทา บูชาคุณครู กตัญญูกตเวที”

บันทึกไว้เมื่อวันศุกร์ ที่ ๑๕ มกราคม ๒๕๕๓

บันทึกการนิเทศภายใน..หัวใจอยู่ที่เด็ก : 8

ครั้งที่ ปีการศึกษา ๒๕๕๒

          ในช่วงนี้มีหนังสือผลงานดีเด่น “Best Practice” ในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจจังหวัดชายแดนใต้ โดยสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานได้รวบรวมเรื่องดีๆเพื่อนำเสนอต่อสาธารณชนได้รับทราบอย่างทั่วถึง จึงขอคัดเลือกผลการปฏิบัติงานที่สำคัญมาเล่าสู่กันฟัง ดังนี้

          ที่โรงเรียนบ้านโกตาบารู สพท.ยะลา เขต ๑ ได้จัดทำโครงการพัฒนาการอ่านออกเขียนได้โดยใช้แบบฝึกทักษะของโรงเรียน และเน้นให้ครูสอนเป็นทีม เพื่อที่จะได้ดูแลนักเรียนอย่างใกล้ชิด สิ่งที่สำคัญก็คือ ครูทุกคนต้องให้กำลังใจแก่นักเรียน พร้อมที่จะให้นักเรียนได้เรียนรู้อย่างมีความสุข
จะร่วมกันสอนในช่วงเวลา ๑๔.๓๐ น.- ๑๕.๐๐ น. ของทุกวัน และทดสอบนักเรียนทุกสัปดาห์ นอกจากนั้น ได้ให้นักเรียนเก่ง ๑ คน ช่วยฝึกอ่านและเขียนกับเพื่อนอีก ๕ คน โดยจะช่วยสอนเวลาใดก็ได้ เช่น เวลาพักกลางวัน เป็นต้น
          ส่วนที่โรงเรียนบ้านนา สพท.สงขลา เขต ๓ ได้จัดทำโครงการสร้างวิธีคิดด้วยวิทยาศาสตร์ ซึ่งครูเฉลียว พรหมมณี ได้ใช้เทคนิควิธีการสอนที่สามารถให้นักเรียนสร้างองค์ความรู้ให้กับตนเองได้ โดยเฉพาะกระบวนการสืบเสาะหาความรู้ ๕ ขั้นตอน คือ ขั้นสร้างความสนใจ ขั้นสำรวจและค้นหา ขั้นอธิบายและลงข้อสรุป ขั้นขยายความรู้ ขั้นประเมิน เป็นการเน้นทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ นักเรียนสามารถเชื่อมโยง นำความรู้ไปใช้ในชีวิตประจำวันได้ มีการวัดผลประเมินผล ด้วยเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพ มีการผลิตสื่อการเรียนการสอนร่วมกับนักเรียนเพื่อใช้ในการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน

          ในขณะที่โรงเรียนไทยรัฐวิทยา ๕๒ สพป.ปัตตานี เขต ๒ได้มีโครงการกระบวนการเรียนรู้แบบโครงการโดยบูรณาการหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ด้วยการจัดการวัสดุที่เหลือใช้ในโรงเรียน แยกเก็บ แล้วคิดสร้างสรรค์งานใช้เอง และขายสร้างรายได้ ใช้ชีวิตอย่างเรียบง่าย โดยตระหนักและสำนึกในคุณค่าของหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

          อีกแห่งหนึ่งที่อยากจะเอ่ยถึง ซึ่งเป็นโรงเรียนในสพท.นราธิวาส เขต ๓ ของเรานี้เอง คือ โรงเรียนบ้านมะรือโบตก ที่ได้จัดทำโครงการพัฒนาการสอนที่เน้นทักษะการทดลอง โดยครูกัญญา
แสนสุข ได้เล่าไว้ว่า การเรียนรู้ที่ดี ครูควรมีวิธีและแนวทางการจัดกิจกรรมการเรียนการเรียนรู้อย่างหลากหลายโดยไม่ยึดติดรูปแบบเดิม รู้จักเปิดตนเองสู่โลกภายนอก ขยายการทำงานแบบมีเครือข่าย มุ่งให้นักเรียนได้เรียนรู้จากของจริงด้วยตนเอง พร้อมนำภูมิปัญญาท้องถิ่นเข้าสู่ห้องเรียน

          กิจกรรมที่ดีๆเหล่านี้ สามารถไปอ่านเพิ่มเติมได้ที่ http://edsouth.obec.go.th/ และหวังเป็นอย่างยิ่งว่า อีกไม่นานเกินรอเราคงได้เห็นผลการปฏิบัติงานที่สำคัญของครูโรงเรียนบ้านลูโบ๊ะกาเยาะ จะปรากฏออกมาอยู่ในหนังสือดังกล่าวบ้าง มีผลงานหลายอย่างที่เราก็ทำได้ดีเหมือนกับเขา เพียงแต่ว่า เราไม่อยากที่จะนำเสนอเท่านั้นเอง

บันทึกไว้ เมื่อวันศุกร์ ที่ ๑๑ ธันวาคม ๒๕๕๒

วันพุธที่ 18 เมษายน พ.ศ. 2555

บันทึกการนิเทศภายใน..หัวใจอยู่ที่เด็ก : 7

                                             ครั้งที่ ปีการศึกษา ๒๕๕๒

          ตั้งแต่มีการปฏิรูปการเรียนรู้ตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๒ มีหนังสือพิมพ์ วารสารหรือสิ่งตีพิมพ์ต่างๆ ได้ให้ความสำคัญกับการนำเสนอคอลัมน์ด้านการจัดการองค์ความรู้ อย่างเมื่อเร็วๆนี้ หนังสือพิมพ์มติชนรายวันได้เผยแพร่คอลัมน์โรงเรียนเข็มแข็งด้วยการจัดการ ความรู้ (Healthy School by Knowledge Management) ทุกวันพฤหัสบดีในหน้าการศึกษา จึงเป็นคอลัมน์ที่น่าติดตามอย่างยิ่งสำหรับคนที่ทำงานด้านการศึกษาหรืออาชีพครูอย่างเรา

          ขอยกตัวอย่างเรื่องเล่าเร้าพลัง (Story Telling) จากคณะครูโรงเรียนบ้านคำสำราญ จังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งทางมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาการเรียนรู้ (มสวร.) ได้ไปร่วมจัดการความรู้ในประเด็น “วิธีการช่วยเหลือนักเรียนที่มีปัญหาด้านการเรียนรู้” สรุปเป็นวิธีปฏิบัติได้ ๔ ประการ คือ
๑. การวิเคราะห์ผู้เรียน โดยใช้เครื่องมือให้เหมาะสมตามกลุ่มสาระและพฤติกรรมของผู้เรียน ๑.๑) การใช้แบบทดสอบ ครูธัญลักษณ์ เล่าว่า มีเด็กที่ดิฉันสอนหลายคนจะมีปัญหาในการอ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ ดิฉันจึงใช้วิธีการนำแบบฝึกชุดที่ ๑-๓ ของสพฐ. ให้เด็กฝึกทำและท่องพยัญชนะอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งได้แยกเด็กเก่ง ปานกลาง อ่อน ออกเป็นกลุ่ม ให้ฝึกอ่านคำพื้นฐาน
๑.๒) การสังเกตพฤติกรรมของเด็ก ครูพิชานันท์ เล่าว่า ทำไม ด.ช.บวร และ ด.ช.ณัฐพล ไม่ชอบอ่านและเขียนหนังสือ ไม่สนใจเรียน เมื่อสังเกตพบว่าเด็กทั้งสองชอบร้องเพลง ฟังเพลง ครูจึงเขียนเนื้อเพลงบนกระดานให้อ่าน ร้อง และเขียนตาม แล้วก็เริ่มเห็นเด็กทั้งสองสนใจที่จะอ่าน และเขียน
๒. การใช้สื่อประกอบกิจกรรม ๒.๑) การใช้ภาพประกอบ ดังครูสำนวน เล่าว่า เด็กในห้องสองคนที่มีความสามารถในการวาดภาพแต่ไม่สนใจการเรียน ครูจึงให้เด็กวาดภาพตามและให้เล่าเรื่องประกอบจากภาพวาดโดยใช้จินตนาการจาก เด็กเอง ๒.๒) การใช้สื่อประกอบการสอน ครูจรีย์ เล่าว่า ดิฉันใช้เพลงพร้อมการแสดงท่าทางประกอบ โดยให้เด็กฝึกอ่าน เขียน กล้าแสดงออก
๓. การแก้ปัญหาพฤติกรรมนักเรียนโดยใช้หลากหลายวิธี ๓.๑) การใช้เพื่อนช่วยเพื่อน
ครูชิตร เล่าว่า ด.ญ.พัชรมณ์ไม่ค่อยพูด ครูจึงให้เพื่อนสนิทสื่อสารกับเขาแทนครู และครูให้เพื่อนคอยช่วยเหลือจนสามารถอ่านออกเขียนได้ ๓.๒) การให้แรงเสริม ครูธัญลักษณ์ เล่าว่า ดิฉันมีการกระตุ้นคือให้กำลังใจ เช่น อายเพื่อน ๕ นาที ดีกว่าอายเพื่อนตลอดชีวิต
๔. การประเมินผลก่อน-หลัง ด้วยวิธีการที่หลากหลาย อย่างเช่น การเน้นการประเมินตามสภาพจริง ครูพนิตศนีย์ เล่าว่า ดิฉันมีการประเมินเด็กอ่านไม่ออก เขียนไม่ได้โดยใช้แบบฝึกคำพื้นฐาน ชุดละ ๖๐ คำ แล้วทดสอบเด็กโดยให้นำคำ ๑๐ คำมาแต่งประโยค
          เป็นเพียงข้อสรุปในการแก้ปัญหาด้านการจัดการเรียนของครูโรงเรียนบ้านคำ สำราญที่ได้จากการปฏิบัติจริง ยังมีเรื่องเล่าเร้าพลังที่น่าสนใจอีกมากมาย ติดตามอ่านเพิ่มเติมได้ที่www.lrd.in.th
บันทึกไว้ เมื่อวันศุกร์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน ๒๕๕๒

วันอังคารที่ 17 เมษายน พ.ศ. 2555

บันทึกการนิเทศภายใน..หัวใจอยู่ที่เด็ก : 6

ครั้งที่ ปีการศึกษา ๒๕๕๒

          พบกันวันศุกร์ในสัปดาห์ที่สองของภาคเรียนที่สองประจำปีการศึกษา ๒๕๕๒ หลังจากสัปดาห์แรกต้องเจอกับฝนชุกตกกระหน่ำลงมาตลอดสามวันสามคืนจนน้ำเชี่ยวไหลหลากล้นท่วมในหลายพื้นที่ อันเป็นเหตุให้คณะครูและนักเรียนของเราหลายคนไม่สามารถจะมาโรงเรียนได้อย่างสะดวก อย่างไรก็ดี เหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดนี้คงจะเกิดขึ้นอีกในช่วงตลอดระยะเวลาของฤดูฝนที่ยังไม่จากไป ขอให้ทุกท่านจงระมัดระวังเป็นพิเศษ แต่เราก็คงพร้อมที่จะทำงานสานต่อตามภารกิจที่ได้รับมอบหมายอย่างเสมอต้นเสมอปลาย หยุดวันไหนเมื่อไหร่ ชีวิตนี้ก็คงไม่มีความหมายใดๆเลย

          “อนาคตเด็กไทย ก้าวไกลเพียงปลายนิ้วคลิก ขอแนะนำเว็บไซต์ใหม่ที่คุณครูทุกท่านพึงต้องทราบและหาเวลาว่างไปคลิกอ่าน เพื่อเป็นการดูแลช่วยเหลือนักเรียนและการแนะแนว นั้นคือhttp://www.guidance.go.th/ คิดว่าบางท่านได้เปิดดูไปบ้างแล้ว นับว่าเป็นความโชคดีของคุณครู รวมทั้งนักเรียนที่เกิดมาในยุคนี้ที่เขาเรียกว่า ยุคข้อมูลข่าวสาร ใครต้องการศึกษาสาระความรู้อะไร ก็สามารถเข้าไปสืบค้นในอินเตอร์เน็ตได้ในทันทีทันใด กลายเป็นแหล่งเรียนรู้ชนิดที่เรียกได้ว่าทรงมีอิทธิพลเป็นอย่างมากให้กับผู้คนที่อยู่กันหลากหลายทั่วสารทิศบนผืนแผ่นดินที่กว้างใหญ่ไพศาลแล้วย่อโลกกลมๆใบนี้ให้เล็กลงราวกับว่าเป็นหมู่บ้านเดียวกัน(Global village) และที่สำคัญขณะนี้มีบริษัทหลายแห่งได้เปิดโอกาสให้พนักงานของตนเองสามารถทำงานอยู่ที่บ้านหรือจะไปอยู่ที่มุมใดก็ได้หากภาระงานนั้นสามารถทำการติดต่อผ่านช่องทางอินเตอร์เน็ต เช่นเดียวกันกับมหาวิทยาลัยต่างๆที่ทั้งอาจารย์ผู้สอนและนักศึกษาไม่ต้องเข้าห้องเรียนเพียงพบกันในบางเวลาที่จำเป็นเท่านั้น

          พูดถึงอินเตอร์เน็ต มีเกร็ดความรู้ที่แทบไม่น่าเชื่อเลยว่าหากเป็นคนนั้น ปัจจุบันอินเตอร์เน็ตมีอายุ ๔๐ ปีแล้ว จากคอลัมน์สนุกกับเทคโนโลยี ในวารสารสยามรัฐสัปดาหวิจารณ์ ฉบับอาทิตย์ที่แล้ว ซึ่งเขียนโดยคุณวินัย ดะห์ลัน ท่านได้บอกว่าอินเตอร์เน็ตนั้นเกิดขึ้นครั้งแรกในโลกเมื่อวันที่ ๒๙ ตุลาคม ๒๕๑๒ โดยเป็นการติดต่อระหว่างศูนย์คอมพิวเตอร์ของมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียกับศูนย์คอมพิวเตอร์ของมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดในซานฟรานซิสโก ซึ่งเป็นแค่เวทีทางวิชาการแคบๆ คนทั่วไปยังเข้าไม่ได้และถือเป็นเรื่องความมั่นคงของประเทศห้ามคนอื่นเข้ามาเกี่ยวข้อง แต่ได้มีการเปิดเผยแล้วดึงคนส่วนใหญ่ทั่วโลกเข้ามามีส่วนร่วมเมื่อปี ๒๕๓๕ นี้เอง ด้วยเหตุได้มองถึงความสำคัญในผลประโยชน์ทางธุรกิจที่มหาศาล

          คงไม่ต้องสงสัยแล้วว่าประเทศมหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกาทำไมเขาจึงเป็นผู้สร้างระเบียบโลกในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา คนที่มีโอกาสได้เข้าถึงข้อมูลมากที่สุดเท่านั้นมักจะได้เปรียบ จงชี้แนะให้กับนักเรียนของเราต่อไปหากคิดที่จะก้าวหน้ามากกว่าคนอื่น

บันทึกไว้เมื่อ วันศุกร์ ที่ ๑๓ พฤศจิกายน ๒๕๕๒


บันทึกการนิเทศภายใน..หัวใจอยู่ที่เด็ก : 5

ครั้งที่ ปีการศึกษา ๒๕๕๒
          สัปดาห์ที่แล้วว่าด้วยแนวคิดการทำงานของคุณหญิงกษมา วรวรรณ ณ อยุธยา หากใครมีโอกาสได้เข้าไปในเว็บไซต์อ่านบล็อกพบกันทุกวันอังคาร คงจะได้รับข้อคิดและวิธีการจัดการองค์ความรู้ที่หลากหลายเพื่อที่จะนำไปประยุกต์ใช้กับตำแหน่งหน้าที่ของตนเองได้อย่างเหมาะสมและสอดรับกับบริบทของสถานศึกษาที่เราได้ร่วมปฏิบัติงานอยู่ด้วยกัน อย่างในวันอังคารของสัปดาห์นี้ท่านได้จบท้ายด้วยการแนะนำให้อ่านบทความครูดีที่สังคมถวิลหาของดร.วรากรณ์ สามโกเศศ บังเอิญว่าบทความเรื่องนี้ได้พิมพ์เผยแพร่ลงในหนังสือพิมพ์มติชนฉบับวันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๕๒ จึงขอสรุปคุณลักษณะสำคัญของครูดีที่สังคมต้องการไว้ตรงนี้อีกครั้ง ดังนี้

          ประการแรก ครูที่ดีคือครูที่รักมนุษย์ มีความปรารถนาดีอย่างจริงใจต่อเด็ก ถ้าใครไม่มีสิ่งนี้อยู่ในหัวใจจงอยู่ห่างไกลอาชีพครูให้มากที่สุด
          ประการที่สอง ครูที่ดีใฝ่หาความรู้และพัฒนาตนเองอยู่เสมอเมื่อไม่แน่ใจเรื่องที่สอนก็ขวนขวายหาความรู้จนชัดเจนเพื่อนำไปสอนเด็ก ไม่มีใครรู้ทุกเรื่องโดยเฉพาะอย่างยิ่งในสภาวะปัจจุบันที่องค์ความรู้ขยายตัวอย่างรวดเร็ว ครูที่หยุดนิ่งก็มีแต่ครูที่ขาดลมหายใจหรือตายแล้วเท่านั้น
          ประการที่สาม ครูที่ดีเป็นผู้มีหลักการในการครองชีวิตที่ดี เป็นตัวอย่างแห่งคุณธรรม มีหลักเกณฑ์ในการดำเนินชีวิตและมีมาตรฐานของเกณฑ์การวัดผลซึ่งคงที่คงวา
          ประการที่สี่ ครูที่ดีเป็นธรรมเสมอหน้า ใส่ใจและให้ความรู้เด็กทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน ไม่ว่าศิษย์จะเก่งหรือไม่เก่ง จะรวยหรือจน ฯลฯ ไม่เลือกที่รักมักที่ชังอย่างมีอคติเพราะเหตุใดก็แล้วแต่
          ประการที่ห้า ครูที่ดีต้องเป็นมิตรกับเด็ก พูดจามีเหตุผล ไม่เจ้าอารมณ์ มีความสามารถทำให้เด็กเกิดความไว้วางใจอันเป็นปัจจัยที่สามารถควบคุมชั้นเรียนจนเกิดการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพ
          ประการที่หก ครูที่ดีเป็นผู้สร้างบรรยากาศและเอื้ออำนวยให้เกิดการเรียนรู้ของเด็กซึ่งสำคัญกว่าการสอน หากเด็กเกิดความอยากรู้อยากเห็น ศรัทธาในการมีความรู้แล้ว เด็กจะสามารถไขว่คว้าหาความรู้ด้วยตนเองอย่างไม่รู้จบ
          ประการที่เจ็ด ครูดีต้องเป็นผู้ยั่วยุ กระตุ้นให้เด็กคิด เด็กฝัน มีความทะเยอทะยาน ใฝ่ดี มีความคิดในเรื่องเข็มทิศศีลธรรม ศรัทธาในการดำเนินชีวิตตามครรลองประชาธิปไตย และในปัจจุบันจำเป็นต้องส่งเสริมและฝึกฝนให้เด็กแสดงออกความเป็นผู้นำให้ได้

          ดังที่นายอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรี ได้กล่าวการันตีไว้ว่า ระบบการศึกษาที่ดี คือ ระบบที่สามารถสร้างคนให้เป็นผู้นำได้ด้วย จึงขอฝากคุณลักษณะเจ็ดประการของครูดีที่สังคมต้องการนี้ให้กับคุณครูทุกท่านได้รับอ่านก่อนที่จะปิดภาคเรียนที่หนึ่ง พบกันใหม่ในภาคเรียนที่สอง ของปีการศึกษา ๒๕๕๒

บันทึกไว้เมื่อวันศุกร์ ที่ ตุลาคม ๒๕๕๒

บันทึกการนิเทศภายใน..หัวใจอยู่ที่เด็ก : 4

ครั้งที่ ปีการศึกษา ๒๕๕๒
          เป็นที่น่าเสียดายนับจากช่วงปลายเดือนตุลาคมนี้เราจะต้องขาดบุคคลสำคัญที่เป็นผู้นำทางด้านการศึกษาอย่างคุณหญิงกษมา วรวรรณ ณ อยุธยา หญิงเหล็กที่แข็งแกร่งในแวดวงการศึกษาไทย จากการให้สัมภาษณ์ท่านได้ตอบว่าในช่วงบั้นปลายของชีวิตจะขอไปดูแลเลี้ยงหลานให้ได้เต็มที่ และได้มีเวลาเขียนหนังสือเกี่ยวกับเด็ก เป็นการบ่งบอกว่าท่านได้ให้ความสำคัญกับเด็กอยู่ตลอดเวลา สมควรแก่การยกย่องเพราะเราในฐานะที่เป็นครูด้วยกันต่างก็รู้อยู่เต็มอกเต็มใจแล้วว่า เด็ก คือ ทรัพยากรบุคคลที่มีค่ายิ่งเหนือสิ่งอื่นใด
          ข้อคิดอีกประการหนึ่งที่ท่านได้เขียนไว้ในคอลัมน์พบกันวันอังคารครั้งล่าสุดเกี่ยวกับเรื่องโอกาสทางการศึกษา ท่านได้ยกย่องชื่นชมการปฏิบัติงานของโรงเรียนขยายโอกาสหรือโรงเรียนที่เปิดโอกาสให้กับผู้ด้อยโอกาสทุกประเภทได้เข้ามาเรียนรู้ ไม่ว่าจะเป็นการรับเด็กจากสถานพินิจ  เด็กที่ถูกทอดทิ้ง ถูกทารุณกรรมหรือมีปัญหา เด็กกำพร้า เด็กพิการ เด็กยากไร้ โดยไม่ควรเลือกรับเฉพาะนักเรียนที่มีความสามารถ ดังโรงเรียนหลายแห่งที่พอพัฒนาเข้ามาตรฐาน เป็นที่นิยม ก็เริ่มรังเกียจเด็กที่ไม่เก่ง ไม่พร้อม แล้วตั้งเกณฑ์คัดสรรนักเรียนขึ้นมา นับว่าเป็นกำลังใจที่ดียิ่ง เพราะโรงเรียนเรายังมีนักเรียนที่ขาดโอกาสอีกหลายคน หากเราไม่รับนักเรียนเหล่านี้เข้ามาเเล้ว เขาจะไปอยู่ที่ไหน อะไรจะเกิดขึ้นกับตัวเขาในอนาคต หากเมื่อต้องไปเผชิญกับสังคมภายนอกที่อาจจะเต็มไปด้วยแหล่งอบายมุข เกิดการแก่งแย่งแข่งขัน ชิงดีชิงเด่นกัน และสารพัดปัญหานับไม่ถ้วน
          ขอขอบคุณคุณครูทุกท่านที่ได้ติดตามดูแลและเอาใจใส่ต่อเด็กเหล่านี้ ยังจำได้ว่าเมื่อเดือนที่แล้วมีคุณครูหลายท่านที่ไม่ประสงค์ออกนามได้ร่วมบริจาคสิ่งของอุปโภคบริโภคให้กับลูกศิษย์ของเราจำนวนสี่สิบกว่าคนที่ได้เป็นเด็กกำพร้า และเมื่อสัปดาห์ที่แล้วได้พานักเรียนอีกจำนวนหนึ่งไปศึกษาแหล่งเรียนรู้นอกสถานที่ ณ กรุงเทพฯ และจังหวัดชลบุรี ต้องขอขอบคุณเป็นพิเศษให้กับคุณครูผู้ที่ได้ร่วมกันจัดโครงการนี้ให้เกิดขึ้น เพราะหากไม่มีโครงการนี้แล้ว นักเรียนของเราหลายคนก็คงจะไม่มีโอกาสได้เปิดโลกทัศน์ที่กว้างไกล โดยเฉพาะนักเรียนที่ยากไร้จากครอบครัวที่ยากลำบาก
           สัปดาห์นี้ประเดิมเริ่มแรกด้วยมุมมองและแนวคิดของผู้หญิงคนเก่งในประเทศไทยเรา คงไม่ผิดทำนองคลองธรรมหากจะจบท้ายด้วยอมตะพจน์ของนางมาร์กาเร็ต แทชเชอร์ อดีตนายกรัฐมนตรี
อังกฤษ หญิงเหล็กที่แข็งแกร่งของโลก ท่านได้ปรารภไว้ว่า ดิฉันมิอาจจะกล่าวได้ว่า ดิฉันเก่งและเหนือกว่าผู้ชาย แต่ดิฉันสามารถที่จะกล่าวได้ว่าดิฉันนั้นมิได้ด้อยไปกว่าผู้ชายแน่นอน
                                                                                                                                 
 บันทึกไว้เมื่อวันศุกร์ ที่    ตุลาคม   ๒๕๕๒  

บันทึกการนิเทศภายใน..หัวใจอยู่ที่เด็ก : 3

                                              ครั้งที่ปีการศึกษา ๒๕๕๒
          "การพัฒนาเด็กสู่วิถีความเป็นเลิศ ตลอดจนทำให้สังคมไทยเป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิตต้องเริ่มต้นที่ครู...ครูคือผู้พลิกชีวิตเด็ก ทำให้ลูกศิษย์ดีขึ้นได้...ใช้คำพูดดีๆไม่ดุด่า และต้องกอดเด็ก...ครูไม่ใช่ผู้สอน แต่ครูเป็นผู้สร้างบรรยากาศที่เอื้ออำนวยต่อการเรียนรู้...ความเก่งของครูไม่จำเป็นต้องเก่งในระดับท๊อปเท็น แต่ต้องมีความเข้มแข็งทางวิชาการและติดตามการเรียนรู้ของเด็ก...” ถ้อยคำหรือวลีดีๆเหล่านี้ เป็นนานาทัศนะของบรรดาครูและผู้นำทางด้านการศึกษาจากสถาบันที่มีชื่อเสียงในระดับประเทศ ซึ่งได้ถ่ายทอดออกมาลงในวารสาร School in focus ฉบับล่าสุด จึงขอหยิบยกมาเป็นหัวข้อเกริ่นนำให้กับเพื่อนครูได้รับอ่านในสัปดาห์นี้ สัปดาห์ที่เราต้องทำงานหนักเป็นพิเศษ มีทั้งเรื่องการจัดทำข้อสอบวัดผลประเมินผลปลายภาคเรียน การเตรียมงานต่างๆที่จะต้องเข้าร่วมกิจกรรม เบิกฟ้าการศึกษามะนารอ รวมจนถึงการวางแผนเตรียมการที่จะพานักเรียนไปแหล่งเรียนรู้ตามโครงการที่เรา ได้จัดไว้ในสัปดาห์หน้า

          อย่างไรก็ตาม ในท่ามกลางภารกิจมากมายที่จะต้องทำในคราเดียวกันนี้ เป็นที่น่ายินดีที่ผู้อำนวยการโรงเรียนของเราก็ยังสามารถปลีกตัวเองมาทำการ ปฐมนิเทศให้กับนักเรียนและคุณครูที่จะไปทัศนศึกษาร่วมกัน ณ แหล่งเรียนรู้ในจังหวัดชลบุรี และกรุงเทพมหานคร ขอชื่นชมเป็นอย่างยิ่งที่ท่านได้ให้ความสำคัญในเรื่องนี้ เพราะการปฐมนิเทศผู้เรียนก่อนไปปฏิบัติการนอกสถานศึกษานั้นเป็นขั้นตอนที่ สำคัญขั้นตอนหนึ่งในการจัดการเรียนรู้จากแหล่งเรียนรู้

          ในขณะเดียวกันก็ขอชื่นชมคณะครูทุกท่านที่ต่างคนต่างก็ขะมักเขม้นอยู่กับ ภาระหน้าที่ของตนเองที่จะต้องทำตลอดทั้งวันในเทอมนี้ ไม่ว่าจะเป็นงานการจัดการเรียนการสอน และงานอื่นๆที่ได้รับมอบหมาย บ่อยครั้งที่เราจะต้องหอบเอกสารกลับไปทำที่บ้าน นี้แหละคือวิถีชีวิตของคนที่เป็นครูอย่างเรา ขอเพียงให้ทุกท่านจงสนุกเพลิดเพลินกับการทำงานตอไป ชีวิตนี้ก็จะมีสุขตลอดชั่วนิรันดร์

          สุขสันต์วันอิดีลฟิตรี ฮิจเราะห์ ๑๔๓๐ หากมีข้อบกพร่องหรือผิดพลาดประการใดทั้งกับนักเรียนและบรรดาเพื่อนครูด้วย กัน ก็คงไม่มีอะไรแล้วที่จะดีเลิศไปกว่าการให้อภัยหรือมาอัฟซึ่งกันและกัน เพราะเราเป็นเพียงแค่ปุถุชนเดินดิน จะหาดีพร้อมทุกอย่างเลยนั้นเป็นไปไม่มี อโหสิ..อโหสิ กันบ้างนะ เนื่องในโอกาสวันฮารีรายอของพี่น้องชาวไทยมุสลิม พบกันอีกในสัปดาห์หน้า

บันทึกไว้เมื่อวันศุกร์ที่ ๑­­๘ กันยายน ๒๕๕๒

วันจันทร์ที่ 16 เมษายน พ.ศ. 2555

บันทึกการนิเทศภายใน..หัวใจอยู่ที่เด็ก : 2

ครั้งที่ ปีการศึกษา ๒๕๕๒
          อันเนื่องมาจากวันที่ ๘ กันยายน ของทุกปี เป็นวันที่ระลึกสากลแห่งการเรียนรู้หนังสือ “INTERNATIONAL LITERACY DAY” ทุกประเทศที่เป็นสมาชิกองค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ ได้พร้อมใจกันจัดกิจกรรมในวันดังกล่าวอย่างต่อเนื่องเป็นเวลา ๔๒ ปี มาแล้ว เจตนารมณ์ก็เพื่อที่จะกระตุ้นเตือนสังคมของประเทศต่างๆได้ตระหนักถึงความ สำคัญของกิจกรรมการศึกษาที่เรียกว่า LITERACY ซึ่งในภาษาไทยแปลคำนี้ว่า การรู้หนังสือ

          จะเห็นได้ว่า เป็นเวลาหลายทศวรรษที่ประเทศไทยเราได้คำนึงถึงในเรื่องนี้ มีการปฏิรูปการศึกษา ปรับปรุงหลักสูตร ปรับเปลี่ยนวิธีการสอน รวมจนถึงปรับโครงสร้างหน่วยงานเพื่อให้เกิดความคล่องแคล่วในการบริหารจัดการ แต่กระนั้นก็ตาม ยังมีผู้ไม่รู้หนังสืออีกมากมายที่หลงเหลือ และถึงแม้จะมีคนจบการศึกษาในระดับต่างๆเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ผลการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติหลายครั้งก็ยังพบว่า การอ่านของคนไทยยังอยู่ในเกณฑ์ค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ด้วยเหตุนี้รัฐบาลจึงต้องประกาศเป็นวาระแห่งชาติ โดยมีเป้าหมายที่จะเพิ่มการอ่านโดยเฉลี่ยของคนไทยให้เพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว ภายในปี ๒๕๕๕ และเด็กที่อยู่ในระบบโรงเรียนที่ยังอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ก็จะต้องหมดไปภาย ในปี ๒๕๕๕ เช่นเดียวกัน

          จึงเป็นภาระหน้าที่ของเราโดยตรงที่จะต้อง ช่วยกันคิด ช่วยกันหาวิธีที่ดีที่สุด เพื่อหาทางออกให้กับนักเรียนของเราบางคนที่ยังมืดมนอยู่ ซึ่งอันที่จริงเราก็ได้ถือปฏิบัติกิจกรรมต่างๆตามโครงการส่งเสริมรักการอ่าน เป็นทุกวันอยู่แล้ว เพียงแต่ว่า เราอาจจะต้องไปสัมผัสกับนักเรียนประเภทที่เรียกว่าผลักดันอย่างไรก็ยังคง อยู่กับที่หรือฉุดขึ้นมาจากเหวไม่ได้จริงๆ ก็ขอให้ถือเสียว่าเป็นสิ่งที่ท้าทายให้กับเราอย่างยิ่ง ลองศึกษานักเรียนเป็นรายกรณี วิเคราะห์หาสาเหตุ ทำการวิจัยต่อไป บางทีเราอาจจะค้นพบเทคนิควิธีการที่ดีกว่าด้วยตัวเราเอง สักวันหนึ่งข้างหน้า เมื่อเราสามารถฉุดพวกเขาขึ้นมาได้สำเร็จ วันนั้นแหละที่ความเหน็ดเหนื่อยของเราจะเลือนหายไปในพริบตา คงไม่จำเป็นให้ใครๆหรือหน่วยงานใดมายกย่องชมเชยหรอก เชื่อเหลือเกินว่า หัวอกของคนที่เป็นครูอย่างเรานี้ คงไม่มีความสุขใดที่ยิ่งใหญ่ไปกว่าการได้เห็นศิษย์ประสบผลสำเร็จ ไม่ว่าจะประสบผลความสำเร็จในเรื่องใดก็ตาม

          จงสู้ต่อไป... อย่าท้อ... ขอเป็นกำลังใจให้ตลอดเวลา ในช่วงปลายของเดือนแห่งการทำความดีนี้ ขอจบท้ายด้วยคำกล่าวที่ว่า “การเป็นคนดีนั้นเป็นสิ่งที่ประเสริฐ แต่การสอนคนอื่นให้เป็นคนดีนั้นจะประเสริฐยิ่งกว่า

บันทึกไว้เมื่อวันศุกร์ที่ ๑๑ กันยายน ๒๕๕๒

วันอาทิตย์ที่ 15 เมษายน พ.ศ. 2555

บันทึกการนิเทศภายใน..หัวใจอยู่ที่เด็ก : 1

ครั้งที่ ปีการศึกษา ๒๕๕๒

          เป็นความตั้งใจมาเนิ่นนานแล้วที่ทีมงานฝ่ายบริหารอยากจะนำเรื่องราวสิ่งดีๆ หรือเก็บตกประเด็นสำคัญจากแหล่งเรียนรู้ต่างๆมาฝากให้กับเพื่อนครูได้รับ อ่าน โดยเฉพาะข้อมูลข่าวสารจากอินเตอร์เน็ตที่เราต่างก็ไม่ค่อยจะมีเวลาว่างเท่าใดนักที่จะสามารถปลีกตัวเองไปไขว่คว้า ด้วยความที่ว่า ต่างคนต่างก็มีภารกิจมากมายก่ายกองที่จะต้องทำเกือบทุกวัน อย่างไรก็ดี เมื่อได้ตั้งปณิธานไว้แล้ว จึงต้องมุ่งมั่นทำให้เกิดเป็นรูปธรรมให้จงได้ แม้อาจจะล่าช้าไปหน่อยก็ตามที เพราะเรามีจุดหมายปลายทางร่วมกันอยู่ที่ นักเรียนดี เก่ง และมีสุข

          ความ
เคลื่อนไหวทางการศึกษาที่น่าสนใจในครั้งนี้เป็นควันหลงจากการอภิปรายร่างพรบ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.๒๕๕๓ ซึ่งได้ผ่านการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรไปแล้ว บางทีเราอาจจะมองไปว่าการเมืองเป็นเรื่องของผลประโยชน์ให้กับบางพรรค บางกลุ่มเท่านั้นจึงอย่าไปสนใจ แต่ในมุมกลับกันเราควรจะรับทราบด้วยว่าบรรดานักการเมืองที่มักจะอ้างตัวเองทำเพื่อประชาชนมาตลอด เขาได้มองและวิพากษ์วิจารณ์ประเด็นเกี่ยวกับการศึกษาหรือเรื่องที่เกี่ยวข้องกับเราอย่างไรบ้าง ประเด็นเด็ดที่เขาได้อภิปรายกันมีดังนี้
          ด้านหลักสูตรการเรียนการสอน

- ควรปลูกฝังเรื่องความสำนึกในความเป็นไทย ให้ปรับวิธีสอนประวัติศาสตร์ ภาษาไทย
การสอนเรื่องหน้าที่พลเมือง และศีลธรรม ซึ่งยังมีน้อย

- เด็กในชนบทอ่านหนังสือไม่ออกเขียนไม่ได้
- ควรพัฒนาสื่อการเรียนการสอนให้มีคุณภาพ และฝึกให้นักเรียนคิดวิเคราะห์มากขึ้น
- ควรเอาใจใส่เรื่องการพัฒนาเด็กก่อนวัยเรียนให้มากกว่าปัจจุบัน
- ควรสนับสนุนให้มีการวิจัยเพื่อพัฒนาการเรียนการสอนให้มากขึ้น
          ด้านการบริหารงานบุคคล

- สวัสดิการและสวัสดิภาพของครูยังไม่ดีพอ ควรปรับปรุงอย่างเร่งด่วน
- ควรพิจารณาเรื่องการย้ายครูกลับภูมิลำเนาเพื่อสร้างขวัญกำลังใจแก่ครู
- อ.ก.ค.ศ. มีบทบาทมากเกินไป ควรทบทวน อ.ก.ค.ศ. ใหม่ ฯลฯ

          ยัง
มีอีกหลายเรื่องที่อยากจะบอกเล่า เอาไว้เป็นครั้งต่อไปจะเล่ามาอีก ถือว่าเป็นการเริ่มต้นที่ดีในเดือนศักดิ์สิทธิ์ของพี่น้องชาวไทยมุสลิมที่ ทุกคนได้ร่วมกันถือศีลอดและบำเพ็ญความดีต่างๆในเดือนนี้ และเพื่อเป็นของขวัญแก่นักเรียนที่น่ารักของเรา ขอให้คุณครูทุกท่านได้แสดงความรักความห่วงใยเด็กด้วยการเอาใจใส่ ดูแลเด็กเหล่านี้อย่างใกล้ชิดให้ได้รับความรู้ ได้รับทักษะความชำนาญ และได้รับการอบรมให้เขาเป็นคนดี ตลอดระยะเวลาที่ได้เรียนรู้ด้วยกัน ณ ภายใต้ชายคาโรงเรียนบ้านลูโบ๊ะกาเยาะ

บันทึกไว้เมื่อวันศุกร์ที่
กันยายน ๒๕๕๒

วันเสาร์ที่ 14 เมษายน พ.ศ. 2555

แรงบันดาลใจ

ขอขอบคุณ

จาก:
kasamvar@emisc.moe.go.th (kasamvar@emisc.moe.go.th)
ส่งเมื่อ:
12 ตุลาคม 2552 12:03:59
ถึง:
hayeelohmae@hotmail.com


เรียนท่านรองตอฮีรน  หะยีเลาะแม
ขอบคุณที่ส่งข้อเขียน "วันศุกร์" มาให้อ่าน เขียนได้กระชับดี หวังว่าจะเขียนต่อไปจนเกษียณ (เหมือนดิฉัน) นะคะ
                                  ดร.กษมา  วรวรรณ ณ อยุธยา

ต้นแบบ "ผู้นำ" ทางด้านการศึกษา
ที่มา...แห่งแรงบันดาลใจ