วันเสาร์ที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2559

HANMANI มีคุณธรรมนำความรู้


HANMANI คือ เทคนิคหรือวิธีการการบริหารงาน ๗ ประการ ที่ผู้นำทางด้านการศึกษาต้องคำนึงถึง
    ๑. คำนึงถึงคน (Human) หมายถึง การสรรหาคัดเลือกบุคคลที่มีศักยภาพเพียงพอเข้ามาร่วมทำงาน นับว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญ เพราะหากเราได้ทีมงานที่เก่ง และมีคุณภาพ การบริหารงานสถานศึกษาของเราก็จะมีคุณภาพตามมาด้วย ดังนั้น ทีมงานของเรา ไม่ว่าจะเป็นตัวแทนที่มาจากคณะครู ชุมชนหรือผู้ปกครองที่เป็นคณะกรรมการสถานศึกษา หรือแม้กระทั่งบุคลากร ทางการศึกษาอื่นๆที่เกี่ยวข้อง บุคคลต่างๆเหล่านี้ เราต้องคัดกรองให้ดี เฟ้นหาบุคคลที่เหมาะสม หรือหากมีบุคลากรดั้งเดิมในหน่วยงานก่อนหน้าที่เราจะเข้ามา จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องศึกษาเป็นรายกรณี เพราะคนเรามีความสามารถที่แตกต่าง จึงต้องหาแนวทางวางคนที่เหมาะกับงาน และสามารถที่จะทำงานร่วมกันได้อย่างเป็นทีม
    ๒. คิดปรับปรุงพัฒนา (Adjustment) หมายถึง การมองการณ์ไกล มีวิสัยทัศน์ ดูบริบทและสภาพทั่วไปของสถานศึกษา จากอดีตที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบันมีจุดแข็งและจุดอ่อนอะไรบ้าง เพื่อเป็นข้อมูลเบื้องต้นในการที่จะคิดและวางแผนให้สถานศึกษาได้รับการปรับปรุงหรือพัฒนาในทางที่ดีขึ้นเรื่อยๆ ให้เป็นไปตามลำดับ โดยเฉพาะการพัฒนาทรัพยากรบุคคล นับว่าเป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุดในบรรดาปัจจัยบริหารทั้ง 4M (Man: คน Machine: เครื่องจักร Material: วัสดุ Method: กระบวนการ) เพราะคนมีชีวิตจิตใจ มีอารมณ์ มีความคิดที่แตกต่าง คนชอบเข้าข้างตนเอง คนมีความต้องการไม่สิ้นสุด และอีกหลายๆอย่างในเชิงลบที่ได้กลายเป็นปัญหาเกิดมาจากเพราะคน แต่ข้อดีก็คือคนเป็นสัตว์สังคมที่สามารถฝึกฝนตนเองได้ อันเป็นแนวทางสำคัญที่เราจะได้ร่วมกันสร้างสรรค์คนดีให้มีจำนวนที่เพิ่มขึ้น เพื่อจะได้ร่วมกันจรรโลงสังคมอยู่เย็นเป็นสุข
    ๓. ตามความจำเป็น (Need) หมายถึง การคำนึงถึงความต้องการหรือความจำเป็นจากหลายๆฝ่ายโดยเฉพาะผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งผู้ปกครองนักเรียนและชุมชนที่อยู่ในเขตบริการ เขาต้องการและปรารถนาอยากเห็นสถานศึกษาดำเนินงานกิจการต่างๆไปในทิศทางใด อย่างไร อันนี้คนที่เป็นผู้นำทางด้านการศึกษาพึงต้องทราบและรับรู้ แล้วมาร่วมกันกำหนดนโยบายและแผนงาน เพื่อจะได้นำไปปรับปรุงและพัฒนางานให้สอดคล้องกับความต้องการจากทุกฝ่ายและตามความจำเป็นของบริบทในแต่ละพื้นที่ รวมจนถึงสอดรับกับนโยบายสำคัญจากหน่วยงานเหนือไม่ว่าจะเป็นระดับเขตพื้นที่ สพฐ. กระทรวงศึกษาธิการ และรัฐบาล อาทิ เช่น การดำเนินการโครงการโรงเรียนคุณธรรม สพฐ. ที่ต่างฝ่ายปรารถนาอยากจะเห็นผู้บริหาร ครู นักเรียนและบุคลากรทางการศึกษาได้รับการปลูกฝังคุณธรรมอัตลักษณ์ ๕ ประการ ทางโรงเรียนอนุบาลยะรังก็ได้ประชุมระดมพลังสมองเห็นพ้องต้องกันว่า คุณธรรมเป้าหมายที่จำเป็นที่ทุกฝ่ายพึงต้องมี ต้องการให้เกิดขึ้นเป็นลำดับสำคัญก่อนนั้น มี ๓ ประการ จึงได้ตั้งชื่อว่า HAS นั้นก็คือ Honesty: ความซื่อสัตย์สุจริต Accountability: ความรับผิดชอบ และSufficiency: ความพอเพียง
    ๔. ร่วมบริหารจัดการ (Management) หมายถึง การเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนเข้ามาบริหารจัดการการศึกษา โดยยึดระเบียบ กฎเกณฑ์ ข้อบังคับ รวมจนถึงแผนกลยุทธ์ แผนปฏิบัติการประจำปี ที่ทุกฝ่ายได้ร่วมกันกำหนดเอาไว้ ซึ่งตรงนี้ ผู้บริหารสถานศึกษาในฐานะที่เป็นตัวกลางหรือเป็นศูนย์รวมจิตใจของผู้ร่วมงานจากทุกฝ่าย ต้องคอยอำนวยให้ความสะดวก สามารถติดต่อประสานงานกับทุกๆฝ่ายได้เป็นอย่างดี มีทั้งศาสตร์และศิลป์ในการบริหารจัดการกิจการต่างๆของสถานศึกษา สำหรับการดำเนินการขับเคลื่อนโครงการโรงเรียนคุณธรรม สพฐ.ของโรงเรียนอนุบาลยะรังนั้น บนพื้นฐานแห่งความเชื่อมั่นอย่างแน่วแน่ว่า ดีต้องมาก่อนเก่ง ทุกฝ่ายจึงได้มีส่วนร่วมในการบริหารกิจกรรมโครงงานต่างๆที่ได้ร่วมกันจัดทำขึ้น ซึ่งขณะนี้มีทั้งหมด ๙ โครงงาน
    ๕.มุ่งให้เกิดผลสัมฤทธิ์ (Achievement) หมายถึง การตรวจสอบผลการปฏิบัติงานตามกิจกรรม โครงงานและโครงการต่างๆที่แต่ละฝ่ายได้รับมอบหมาย ประสบผลสำเร็จมากน้อยแค่ไหน เป็นไปตามเป้าหมายหรือบรรลุตามวัตถุประสงค์เท่าใด และสอดคล้องกับแผนกลยุทธ์ แผนปฏิบัติการประจำปีหรือไม่ ซึ่งเป็นข้อมูลพื้นฐานที่สำคัญในการที่จะทำการวิเคราะห์ วิจัย และพัฒนา ถือว่าเป็นการปรับปรุงกระบวนการทำงานอย่างต่อเนื่องอันสอดคล้องกับหลักการบริหารมุ่งคุณภาพทั้งองค์การที่ทุกคนต้องมีส่วนร่วมในทุกขั้นตอน (Total Quality Management) ทั้งนี้ ก็เพื่อให้ผู้ร่วมงานทุกฝ่ายรวมทั้งนักเรียนมีคุณธรรมนำความรู้ตามคุณธรรมเป้าหมาย และผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนนั้นดีขึ้นอันเป็นผลพลอยได้ที่ตามมา ซึ่งเป็นไปตามจุดมุ่งหมายที่สังคมต้องการ นั้นก็คือ เป็นคนดี มีปัญญา และมีความสุข จากการดำเนินการขับเคลื่อนกิจกรรม โครงงาน และโครงการต่างๆที่สอดคล้องกับแนวทางของโครงการโรงเรียนคุณธรรม สพฐ. จะเห็นได้ว่า โรงเรียนอนุบาลยะรังได้รับการยอมรับจากทุกๆฝ่าย ทั้งสถานศึกษา ผู้บริหาร ครูและนักเรียน มีผลการปฏิบัติงานที่เป็นเลิศ (Best Practice) ที่ปรากฎเห็นเป็นประจักษ์ตั้งแต่ระดับกลุมโรงเรียน เขตพื้นที่ ภูมิภาค จนถึงระดับชาติ อันส่งผลให้ผู้ปกครองไว้วางใจส่งบุตรหลานเข้ามาเรียนเป็นจำนวนมากในทุกปีการศึกษา
    ๖. เสริมสร้างเครือข่าย (Network) หมายถึง การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกัน ใครมีอะไรดีก็ต้อง เผยแพร่ประชาสัมพันธ์แก่เพื่อนร่วมงานหรือเพื่อนร่วมวิชาชีพทั้งในกลุ่มโรงเรียน ในเขตพื้นที่และนอกเขตพื้นที่ ตลอดจนถึงบุคคลทั่วไปที่สนใจ  โรงเรียนอนุบาลยะรังได้มีโอกาสออกไปนำเสนอเผยแพร่ผลการปฏิบัติงานที่เป็นเลิศ (Best Practice) มาโดยตลอด กอปรกับมีจำนวนหลายโรงเรียนทั้งในและนอกเขตพื้นที่ได้มาเยี่ยมเยียนศึกษาดูงาน
ณ โรงเรียนอนุบาลยะรัง อาทิ เช่น ผลการปฏิบัติงานที่เป็นเลิศ (Best Practice) ที่เกี่ยวข้องกับการจัดการเรียนการสอนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงของโรงเรียนและผู้บริหาร การนำเสนอโครงงานคุณธรรมของนักเรียนและครู เป็นต้น
    ๗. เติมเต็มด้วยความรัก (I love you) หมายถึง การทำงานกับเพื่อนร่วมงานทั้งในและนอกโรงเรียนที่เป็นเครือข่ายของเราอย่างเป็นกัลยาณมิตร มีการเอาใจใส่ให้กำลังใจอยู่ตลอดเวลา เป็นการเสริมสร้างบรรยากาศที่ดีในสถานที่ทำงาน กระตุ้นให้ทุกคนทำงานด้วยใจรัก รักในหน้าที่การงานของตน รักทุกๆคนที่เป็นเพื่อนร่วมงาน และที่สำคัญ รักนักเรียนทุกคนดั่งลูกของตนเอง เพราะเขาเหล่านั้นคือทรัพยากรบุคคลที่มีค่ายิ่งเหนือสิ่งอื่นใด เป็นกำลังสำคัญของชาติพร้อมที่จะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่ดีและมีคุณภาพต่อไปในวันข้างหน้า สักวันหนึ่งอาจจะกลับมาเป็นครูหรือบุคลากที่เป็นเพื่อนร่วมงานกับเราอีกก็เป็นไปได้ หรืออย่างน้อยก็เป็นศิษย์เก่าอาจจะได้เป็นถึงกรรมการสถานศึกษา ก็ยังถือว่าเป็นบุคคลที่สำคัญอีกคนหนึ่งซึ่งจะต้องกลับมาร่วมสร้างสรรค์คนดีมีคุณธรรมให้กับประเทศชาติสืบไป 
        จุดเน้น ให้ทุกคนได้หันหน้าเข้าหากัน ร่วมกันคิด ร่วมกันทำ ร่วมกันสร้างสรรค์คนดี มีคุณธรรมเป้าหมาย HAS มีความซื่อสัตย์สุจริต มีความรับผิดชอบ มีความพอเพียง เพื่อนำสถานศึกษาโรงเรียนอนุบาลยะรังเข้าสู่สู่โรงเรียนคุณธรรม สพฐ.อย่างยั่งยืน 
         ข้อสังเกต หากจะเปรียบเทียบ HANMANI เทคนิคหรือวิธีการการบริหารงาน ๗ ประการ ที่ผู้นำทางด้านการศึกษาต้องคำนึงถึง กับ PDCA วงจรการบริหารงานคุณภาพของเดลมิ่งแล้ว จะเห็นได้ว่า ช่วงคำนึงถึงคน (Human) คิดปรับปรุงพัฒนา (Adjustment) และตามความจำเป็น (Need) เป็นช่วงของการวางแผน (Plan) ในขณะที่ทุกฝ่ายได้ร่วมบริหารจัดการ (Management) กิจกรรม โครงงานหรือโครงการต่างๆนั้นเป็นช่วงของการปฏิบัติ (Do) ส่วนช่วงมุ่งให้เกิดผลสัมฤทธิ์ (Achievement) โดยผ่านการตรวจสอบและประเมินผลกิจกรรม โครงงานหรือโครงการต่างๆอย่างเป็นระยะๆ นับว่าเป็นช่วงของการตรวจสอบ (Check) และสุดท้ายช่วงเสริมสร้างเครือข่าย (Network) กับเติมเต็มด้วยความรัก (I love you) เป็นช่วงของการดำเนินงานให้เหมาะสม (Act) กิจกรรมอะไรที่กลายเป็นผลการปฏิบัติที่เป็นเลิศ (Best Practices) เราก็ดำเนินการต่อไปให้ต่อเนื่องพร้อมเผยแพร่ประชาสัมพันธ์แก่เพื่อนร่วมงานหรือเพื่อนร่วมวิชาชีพที่เป็นเครือข่ายของเรา ในขณะเดียวกัน กิจกรรมอะไรที่ยังไม่บรรลุตามวัตถุประสงค์หรือไม่ประสบผลสำเร็จเท่าที่ควร ก็ด้วยเครือข่ายที่เราได้สร้างมิตรภาพผูกพันรักสัมพันธ์ไมตรีนี้แหละที่เราจะได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ศึกษาดูงานซึ่งกันและกัน แล้วกลับมาปรับปรุงกิจกรรมเหล่านั้นให้ดียิ่งขึ้น  

สวนบัว

   Lotus Garden at Anubanyarang School.
                                       “น้ำพุพุ่งกระเซ็นเย็นกายจิต    พระอาทิตย์สาดส่องสว่างหล้า

                                   บัวพึ่งแสงไม่แล้งน้ำตระการตา   ต่างพึ่งพาเอื้อเฟื้อเกื้อกูลกัน”

                                           “บัวบานสวยเด่น ดุจเช่นศิษย์งาม เพียรพยายาม เดินตามรอยครู”
                             “บัวงามเจิดจรัส  ศิษย์หัดหาญสู้ หยาดเหงื่อพรั่งพรู ครูอยู่เบื้องหลัง”
                      “บัวงามบานเบ่ง ศิษย์เก่งหยั่งเห็น อ่านออกคิดเป็น ครูเข็นผลักดัน”     

                                                                                   ตอฮีรน หะยีเลาะแม : ร้อยกรอง