วันพุธที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2555

มุมมอง...จากห้องผู้อำนวยการ 3



                                                                                ครั้งที่ ๓  ปีการศึกษา ๒๕๕๕

                                                 "ได้เห็นวันวาน  ได้ผ่าน  และรักวันนี้
                                                   จึงมีเหตุให้  ต้องไม่หวาดหวั่น  ถึงวันพรุ่งนี้".....

           กับช่วงเวลาเกือบหนึ่งปีที่กระผมมาอยู่โรงเรียนบ้านบาตะกูโบ นับว่าเป็นโอกาสดีที่ได้พบเพื่อนร่วมงานที่มีความมุ่งมั่น ได้เห็นนักเรียนที่ขยันและขันแข็ง อีกทั้งได้รับแรงเสริมที่ดีจากผู้ปกครองนักเรียนและคณะกรรมการสถานศึกษา โรงเรียนบ้านบาตะกูโบในวันนี้จึงได้กลายเป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งให้กับชุมชน ทำให้พวกเราทุกคนอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุข

           โรงเรียนน่าอยู่ เคียงคู่คุณธรรม เป็นเอกลักษณ์ประจำโรงเรียนที่เราอยากเห็นทุกคนได้ปฏิบัติตนตามหลักการศาสนา และกฎกติกาของสังคม  ขอชื่นชมคณะครูและนักเรียนที่ได้ปฏิบัติการละหมาดร่วมกันทุกวันทั้งเวลาบ่ายและเย็น เน้นฝึกการให้สลามและไหว้ทุกครั้งเมื่อมีโอกาสได้พบ นั่นคือ มารยาทงาม สลามสวย ซึ่งเป็นไปตามอัตลักษณ์ของโรงเรียน

           จึงขอขอบคุณทีมงานจากทุกๆฝ่าย ที่ได้ร่วมแรงร่วมใจ ร่วมกันจัดทำโครงการและกิจกรรมต่างๆจนสำเร็จลุล่วงไปด้วยดี มีผลงานนักเรียนติดอันดับหลายรายการตั้งแต่ระดับศูนย์เครือข่าย ระดับเขตพื้นที่ จนถึงระดับภูมิภาค คุณงามความดีทั้งหมดนี้อยากให้ทุกคนได้รักษาไว้ตลอดไป

                                                                                                   สวัสดีปีใหม่ ๒๕๕๖

วันจันทร์ที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2555

มุมมอง...จากห้องผู้อำนวยการ: 2

                                         ครั้งที่ ๒ ปีการศึกษา ๒๕๕๕
ขอความสันติสุขจงมีแด่ทุกท่าน...
     "โรงเรียนน่าอยู่ เคียงคู่คุณธรรม" ขอเกริ่นนำด้วยเรื่องเดิมๆ เขียนให้ซ้ำๆ พูดย้ำและเน้นให้มากที่การกระทำจนทุกคนจดจำได้ว่า นี่คือเอกลักษณ์ของโรงเรียนบ้านบาตะกูโบ อีกหนึ่งสถานศึกษาซึ่งเป็นแหล่งเรียนรู้ที่สำคัญของชุมชน ฝากให้เราทุกคนร่วมกันจรรโลงสถานที่แห่งนี้ให้กลายเป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ เรามาเรียนรู้ร่วมกันพร้อมด้วยปฏิบัติ ปรารถนาอยากให้ทุกคนมีโลกทัศน์ที่กว้างไกล พร้อมกับใส่ใจในเรื่องความดีงามตามอัตลักษณ์ของโรงเรียนที่ว่า "มารยาทงาม สลามสวย"
     โรงเรียนบ้านบาตะกูโบ ร่วมด้วยช่วยกันขอนำสถานศึกษาเตรียมสู่ประชาคมอาเซียนในปี ๒๕๕๘ Towards ASEAN Community 2015: We are ASEAN. ที่เราทุกคนพึงต้องรวมตัวให้กลมเกลียว รวมใจให้เป็นหนึ่งเดียว แต่อยากสะกิดสักนิดให้เราทุกคนได้ตระหนักรับรู้ด้วยว่า นับจากนี้ไป ไม่ว่าอะไรที่เป็นเรื่องของการแข่งขัน สอบเข้าเป็นแพทย์ พยาบาล เภสัชกร วิศวกร หรือการสมัครงานทั้งหน่วยงานรัฐหรือเอกชน จากเมื่อก่อนอะไรก็ตามเราแข่งกับคนไทยด้วยกันเองเพียงแค่ ๖๐ ล้านกว่าคน ต่อไปนี้ต้องเพิ่มเป็นสิบเท่าจากประชากรอาเซียนทีี่มี ๖๐๐ ล้านกว่าคน แต่ด้วยระบบการศึกษาที่มีคุณภาพเท่านั้นที่จะทำให้เราสามารถฝ่าฟันอุปสรรคต่างๆได้ เราจะไม่หยุดยั้งในการแสวงหาความรู้ จนกว่าจะถึงจุดๆหนึ่งซึ่งมีความรู้สองกระแสมาบรรจบพบกัน นั่นคือความรู้ทางโลกและทางศาสนา เป็นวาทะส่วนหนึ่งของฯพณฯ ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ เลขาธิการอาเซียน ได้กลับมาบรรยายไว้ ณ ปอเนาะบ้านตาล เมื่อวันที่ ๑๖ มิถุนายน ๒๕๕๕
     ขอขอบคุณคณะครูทุกท่านที่ร่วมกันถักทอสานความฝันให้เป็นจริง มาคอยรับนักเรียนในยามเช้า ดูแลเอาใจใส่นักเรียนเสมือนลูกหลาน ทำงานอย่างกระตือรือร้น อยู่เคียงข้างกับนักเรียนจนถึงเวลาละหมาดยามเย็น ขอขอบคุณผู้ปกครองที่รับช่วงสานต่อ ร่วมด้วยช่วยกันหมั่นฝึกฝนให้ลูกเป็นคนดี เก่ง และมีสุขขณะอยู่ที่บ้าน ขอขอบคุณคณะกรรมการสถานศึกษาและชุมชนที่ช่วยกันสอดส่องดูแลบริบททั่วไปของโรงเรียนเป็นอย่างดีและเป็นที่รู้จักแก่ผู้คนทั้งหลาย
     สุดท้ายขอขอบคุณท่านผอ.นพพร มากคงแก้ว ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาปัตตานี เขต ๒ พร้อมด้วยคณะ ที่ได้มาเยี่ยมเยียนโรงเรียนบ้านบาตะกูโบ เมื่อวันที่ ๘ มิถุนายน ๒๕๕๕ ท่านเป็นอีกคนหนึ่งที่อยากเห็นเราทุกคนได้พึงตระหนักเรียนรู้เกี่ยวกับอาเซียน และร่วมสร้างคุณภาพการศึกษาด้วยการเริ่มต้นที่ห้องเรียน

วันพุธที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

มุมมอง..จากห้องผู้อำนวยการ : 1

ครั้งที่ ปีการศึกษา ๒๕๕๕
 
 “คิด” มุ่งไปข้างหน้า ก้าวผ่านอาเซียน เรียนรู้สู่โลกสากล                                                                                 
 “ปฏิบัติตน” ย้อนกลับมามอง สิ่งที่สอดคล้อง กับท้องถิ่นบ้านเรา    
              ถอดความเอามาเขียนสั้นๆเป็นภาษาอังกฤษก็คือ Think globally, act locally. เพียงถ้อยคำแค่ไม่กี่คำนี้มีความหมายอย่างยิ่งต่อนักเรียน คุณครู ผู้ปกครอง และชุมชนในเขตพื้นที่บริการสถานศึกษา รวมจนถึงหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้อง ที่เราต้องรวมพลังร่วมกันปลูกฝังให้ทุกคนได้เกิดการเรียนรู้และนำสู่การปฏิบัติจนเป็นกิจวัตรประจำวัน
สืบเนื่องจากปัจจุบันโลกของเราเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วและแคบลงจนกลายเป็นหนึ่งหมู่บ้านโลก(Global village) ด้วยเทคโนโลยีที่ก้าวล้ำ ทำให้ผู้คนทั่วสารทิศสามารถติดต่อสื่อสารกันได้อย่างฉับพลันทางอินเตอร์เน็ต ด้วยเหตุนี้ ระบบการบริหารจัดการทางด้านการศึกษาต้องเปลี่ยนตามไปด้วย เพื่อเป็นเครื่องมือที่จะได้ช่วยให้เราทุกคนรอดพ้นจากการเป็นกลุ่มคนที่ต้องเดินตามหลังไล่คนที่นำหน้าไปสุดไกลโพ้นจนตามไม่ทัน ในขณะเดียวกัน เราก็จำเป็นที่จะต้องหันหลังเดินวกกลับเพื่อไปแบกรับคุณงามความดีที่บรรพบุรุษของเราได้ร่วมกันสร้างเอาไว้ เป็นอีกหนึ่งหน้าที่ที่เราอนุชนคนรุ่นใหม่พึงต้องรักษาและคงไว้ซึ่งเอกลักษณ์ที่ดีและวัฒนธรรมที่สวยงามเหล่านั้นให้คงอยู่ต่อไป ตลอดจนถึงการปฏิบัติตามหลักการศาสนาที่ทุกคนเคารพและนับถืออย่างเคร่งครัด นับว่าเป็นโอกาสดีที่โรงเรียนบ้านบาตะกูโบของเราเป็นอีกหนึ่งโรงเรียนในสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาปัตตานี เขต ๒ ที่มีการพัฒนาระบบการจัดการเรียนการสอนอิสลามศึกษาแบบเข้ม เราพร้อมที่จะฝึกฝนให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้และเชิดชูคุณธรรมเป็นหลักเพื่อที่จะเสริมเติมเต็มให้ทุกคนได้กลายเป็นคนดี เก่ง และมีสุข ตามเจตนารมณ์ของพรบ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๔๒ และสอดคล้องกับความต้องการของผู้ปกครองหรือชุมชนของเราเป็นสำคัญ
จึงขอฝากความหวังอันยิ่งใหญ่นี้ให้กับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เพราะโรงเรียนของเรานี้ไม่ได้ขึ้นอยู่กับคณะครู คณะกรรมการสถานศึกษาฯ หรือผู้อำนวยการแต่เพียงฝ่ายเดียว แต่คือภาระหน้าที่ที่ทุกฝ่ายในชุมชนหรือทุกภาคส่วนในสังคมต้องเข้ามามีส่วนร่วม มีบทบาทในการจัดการการศึกษาร่วมกัน เพื่อจะได้ก้าวทันกับสภาวะการหมุนเวียนของโลกที่แปรปรวนไม่เคยหยุดนิ่ง แต่หากเราทิ้งภาระปัดความรับผิดชอบหรือหยุดอยู่กับที่ไปเมื่อไร ในอนาคตอันใกล้นี้ โรงเรียนบ้านบาตะกูโบของเราก็จะหลุดโคจรตกขอบจากเวทีโลกไปเลยในเรื่องของการบริหารจัดการองค์ความรู้

วันอังคารที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

ผู้บริหาร..ผู้นำทางด้านวิชาการ


          การเป็นผู้นำทางด้านวิชาการ นับว่าเป็นสิ่งสำคัญที่ผู้บริหารสถานศึกษาทั้งหลายต้องคำนึงถึงเป็นอันดับแรก เพราะการบริหารจัดการเพื่อเข้าสู่โรงเรียนคุณภาพนั้น แน่นอนต้องมุ่งที่งานวิชาการเป็นหลัก ส่วนงานอื่นๆถือว่าเป็นงานรอง หรือเป็นงานที่เกื้อหนุนให้กับงานวิชาการทั้งสิ้น ดังนั้น ใครก็ตามที่ต้องการเป็นผู้บริหารสถานศึกษาที่ประสบผลสำเร็จหรือเป็นผู้บริหารมืออาชีพ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องฝึกฝนตนเองเป็นผู้นำทางวิชาการ ส่วนการที่จะเป็นผู้นำที่ดีได้นั้น อย่างน้อยต้องมีคุณลักษณะ 10 ประการ ดังต่อไปนี้
          ประการแรก เป็นแบบอย่างของผู้นำแห่งการเปลี่ยนแปลง
          ประการที่สอง เป็นผู้อำนวยความสะดวก และสร้างแรงจูงใจให้กับทีมงาน
          ประการที่สาม เป็นนักประสานงานที่ดีกับบุคคลที่อยู่ในหน่วยงานและข้างนอก
          ประการที่สี่ เน้นการบริหารงานแบบมีส่วนร่วม
          ประการที่ห้า ส่งเสริมพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษา รวมจนถึงผู้ปกครองและคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน
          ประการที่หก ส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย
          ประการที่เจ็ด ส่งเสริมสนับสนุนการวิจัย และพัฒนา
          ประการที่แปด เผยแพร่ประชาสัมพันธ์ผลงานให้ผู้ที่เกี่ยวข้องได้รับทราบ
          ประการที่เก้า มุ่งสร้างเครือข่าย ทั้งในระดับท้องถิ่น ระดับชาติ และระดับนานาชาติ
          ประการที่สิบ มุ่งสร้างวัฒนธรรมองค์การแห่งการเรียนรู้ให้กับหน่วยงานของตนเอง
          
          คุณลักษณะการเป็นผู้นำทางวิชาการเหล่านี้ จะส่งผลต่อวิชาชีพของตนเกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลมากยิ่งขึ้น จะทำให้เรากลายเป็นผู้บริหารสถานศึกษาแบบมืออาชีพอย่างแท้จริง นอกจากนี้ เป็นการฝึกฝนให้ผู้ร่วมงานของเราเป็นผู้นำตามไปด้วย จากการที่เปิดโอกาสให้ทุกคนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารจัดการการศึกษาด้วยกัน ทั้งนี้ทั้งนั้น ก็เพื่อมุ่งเน้นให้ผู้เรียนมีคุณภาพคือ นักเรียนดี เก่ง และมีสุข เมื่อผลผลิตของเรามีคุณภาพ ชุมชนหรือผู้ที่เกี่ยวข้องก็มีความพึงพอใจ และสิ่งสำคัญที่ตามมาก็คือผลผลิตที่มีคุณภาพของเรานั้นเป็นที่ต้องการของสถาบันต่างๆที่พวกเขาจะไปศึกษาต่อ หรือสถานที่ประกอบการที่ดีๆที่พวกเขาจะเข้าไปทำงาน ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานของรัฐหรือเอกชน อันเป็นเหตุให้เราในฐานะผู้บริหารสถานศึกษาที่เป็นผู้นำทางวิชาการ มีความภาคภูมิใจเป็นอย่างยิ่ง จากการที่ได้ร่วมกันบริหารจัดการการศึกษาที่เหมาะสมและสอดคล้องกับความต้องการของสังคม

          ทั้งหมดนี้จัดว่าเป็นระบบการบริหารการศึกษาแบบมุ่งคุณภาพทั้งองค์การ (Total Quality Management) ที่บรรดาผู้บริหารสถานศึกษาหรือผู้นำทางด้านการศึกษาทั้งหลายต้องพึงตระหนัก และรู้จักนำไปประยุกต์ใช้ อันดับแรกใช้หลักคิดที่ว่า มุ่งความสำคัญให้กับลูกค้าหรือผู้เรียนเป็นหลัก (Customer Focus) จากนั้นต้องปรับปรุงกระบวนการทำงานอย่างต่อเนื่อง (Process Improvement)และที่สำคัญต้องให้ทุกภาคส่วนของสังคมเข้ามามีส่วนร่วม (Total Involvement)

คุณภาพสิ่งแวดล้อม..ก็คือคุณภาพของประเทศ


          ทั่วทุกมุมโลกต่างก็คงยอมรับและเห็นพ้องต้องกันแล้วว่า ประเทศที่ได้รับการพัฒนาอย่างสมบูรณ์แบบนั้น เราจะไม่ดูแต่เฉพาะการใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย หรือเศรษฐกิจดีประชากรมีรายได้สูงเท่านั้น หากแต่ว่ายังมีอีกสิ่งหนึ่งซึ่งเราควรต้องคำนึงถึง นั่นคือ คุณภาพสิ่งแวดล้อม          
          ญี่ปุ่นคือประเทศหนึ่งที่ตระหนักในเรื่องนี้เป็นอย่างดี อาจเป็นเพราะว่าเคยได้รับบทเรียนสิ่งแวดล้อมเป็นพิษจากโรงงานอุตสาหกรรมเมื่อสี่สิบกว่าปีที่ผ่านมาหรืออาจจะเป็นเพราะอะไรก็แล้วแต่ แค่ก้าวแรกที่ผมได้เหยียบลงบนผืนแผ่นดินแห่งนี้ที่สนามบินนารีตะ ได้เห็นขยะจำนวนหลายใบที่มีการแยกประเภท ก็เป็นที่ประจักษ์ชัดเจนแล้วว่า ทุกวันนี้ญี่ปุ่นมีความเป็นห่วงต่อสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจัง          
          ถัดจากนั้นผมก็ได้ตั้งข้อสังเกตอีกหลายอย่างที่ได้ประสบพบเห็น คนญี่ปุ่นเดินมากเป็นว่าเล่น หรือบางคนก็ขี่จักรยานเป็นพาหนะในการไปทำงาน นับว่าเป็นการบรรเทามลพิษทางอากาศได้ดียิ่ง และสิ่งที่ผมคิดว่าเป็นเรื่องที่น่าทึ่งมากก็คือ การที่ได้มีการคิดค้น เอาขยะ น้ำเสีย หรือสิ่งปฏิกูลอื่นๆ มารีไซเคิลไปใช้ประโยชน์ได้ใหม่ หลังจากที่ได้ไปศึกษาดูงานที่สถานที่บำบัดน้ำเสียในกรุงโตเกียว รวมจนถึงมีการคิดค้นแปลงน้ำฝนกลับมาใช้ได้อีกในเขตสุมิดากุ ยังมีอีกหลายแห่งที่ผมไม่ได้กล่าวไว้ ณ โอกาสนี้ แต่บอกได้เลยว่า ทุกส่วนของสังคมไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ เอกชน หรือประชาชนทุกสาขาอาชีพ ต่างก็คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมเป็นสำคัญ แม้แต่การดำเนินงานทางด้านธุรกิจของทุกบริษัทก็ยังต้องมีหลักประกันทางด้านสิ่งแวดล้อมเข้ามาเกี่ยวข้อง หากไม่เช่นนั้นบริษัทจะอยู่ไม่รอดหากไม่มีการกำหนดนโยบายเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมหรือการกำหนดมาตรการที่ใส่ใจให้กับสิ่งแวดล้อมมาเป็นตัวตั้ง
          ด้วยเหตุนี้กระมังที่บ้านเรือนและถนนทั้งสองข้างทางดูสะอาดเรียบร้อย มีต้นไม้เกือบทุกสาย มีสวนสาธารณะเกือบทุกพื้นที่ มองเห็นทุ่งนาและภูเขาเขียวขจีเต็มไปหมด และที่ผมแอบปลื้มในใจอดที่จะคิดถึงไม่ได้ที่นอกเหนือจากความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติแล้วก็คือ คุณภาพของทรัพยากรมนุษย์ กว่ายี่สิบวันที่ผมได้มาอยู่ที่นี่ คนญี่ปุ่นมีน้ำใจมาก ไม่แบ่งพรรคแบ่งพวก ไม่ดูถูกดูแคลนผิวสีหรือกลุ่มชาติพันธุ์ และที่สำคัญ มีนิสัยขยัน มุ่งมั่น ตรงต่อเวลา ก็สมควรแล้วที่มีผู้คนเขาพูดว่าเป็นประเทศที่เจริญก้าวหน้าอย่างแท้จริง
          แบบอย่างที่ดีเหล่านี้ผมจะพยายามนำไปประยุกต์ใช้ในสถานที่ทำงานต่อไป จุดเริ่มแรกก็คือเล่าให้กับเพื่อนร่วมงานและบรรดาลูกศิษย์ลูกหาทั้งหลาย เพื่อสร้างจิตสำนึกในการอนุรักษ์ปกป้องสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของหน่วยการเรียนรู้ที่ผมได้สอนอีกด้วย และคิดว่าทุกหน่วยงานไม่ว่าจะเป็นระดับท้องถิ่นจนถึงระดับชาติในหลายๆประเทศหรือทั่วทุกมุมโลกคงจะตระหนักใส่ใจในเรื่องนี้เป็นอย่างดี เพราะคุณภาพของสิ่งแวดล้อมนั้นถือว่าคือหน้าตาของประเทศชาติเฉกเช่นเดียวกัน

หมายเหตุ บทความเรื่องนี้ได้รับการตีพิมพ์ลงในวารสาร "ข่าวสารการศึกษา" สพท.นราธิวาส เขต ๑ ฉบับที่ ๑๓ ประจำเดือนกันยายน พ.ศ. ๒๕๔๗ เขียนไว้หลังจากกลับดูงานด้านการจัดการสิ่งแวดล้อม ณ ประเทศญี่ปุ่น ปี ๒๕๔๗ โดยทุนองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งชาติญี่ปุ่น



"ญี่ปุ่นให้ความสำคัญกับการศึกษา เพื่อสร้างคนให้มีคุณภาพ และนำคนเหล่านี้ไปสร้างชาติอีกต่อหนึ่งจนประสบผลสำเร็จอย่างน่าทึ่ง ประเทศไทยเราจึงต้องยกระดับการศึกษาของผู้คนในประเทศให้เท่าเทียมกับอารยประเทศเฉกเช่นเดียวกัน"
                                           คุณลักษณะเด่นของคนญี่ปุ่น 10 ประการ

1. ชอบอ่านหนังสือ
2. ช่างคิดช่างสร้างสรรค์   
3. การตรงต่อเวลา   
4. ความสะอาดเป็นระเบียบเรียบร้อย
5. การอ่อนน้อมถ่อมตน ไม่พูดโอ้อวด
6. ความซื่อสัตย์ สุจริต ไม่คดโกง     
7. การทำงานอย่างกระตือรือร้น
8. พิถีพิถันเอาใจใส่ในรายละเอียดต่างๆ เล็กๆ น้อยๆ
9. แยกแยะเรื่องส่วนตัวและความรับผิดชอบในหน้าที่
10. การทำงานเป็นทีมแบบรวมกลุ่มOne for all & all for one.

หันมานี่โมเดล:HANMANI MODEL

                                        หลักการบริหารจัดการแบบหันมานี่โมเดล(HANMANI MODEL)
                    เน้นให้ทุกคนได้หันหน้าเข้าหากัน มาร่วมกันคิดร่วมกันทำ เพื่อนำสถานศึกษาสู่ความเป็นเลิศ

หันมานี่โมเดล ก็คือ กระบวนการบริหารงาน 7 ประการ : ที่ผู้นำทางด้านการศึกษาต้องคำนึงถึง

     1. คำนึงถึงคน (Human) หมายถึง การสรรหาคัดเลือกบุคคลที่มีศักยภาพเพียงพอเข้ามาร่วมทำงาน นับว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญ เพราะหากเราได้ทีมงานที่เก่ง และมีคุณภาพ การบริหารงานสถานศึกษาของเราก็จะมีคุณภาพตามมาด้วย ดังนั้น ทีมงานของเรา ไม่ว่าจะเป็นตัวแทนที่มาจากคณะครู ชุมชนหรือผู้ปกครองที่เป็นคณะกรรมการสถานศึกษา หรือแม้กระทั่งบุคลากร ทางการศึกษาอื่นๆที่เกี่ยวข้อง บุคคลต่างๆเหล่านี้ เราต้องคัดกรองให้ดี เฟ้นหาบุคคลที่เหมาะสม สอดคล้องกับงาน และสามารถที่จะทำงานร่วมกันได้อย่างเป็นทีม
     2. คิดปรับปรุงพัฒนา (Adjustment) หมายถึง การมองการณ์ไกล มีวิสัยทัศน์ ดูบริบทและสภาพทั่วไปของสถานศึกษา จากอดีตที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบันมีจุดแข็งและจุดอ่อนอะไรบ้าง เพื่อเป็นข้อมูลเบื้องต้นในการที่จะคิดและวางแผนให้สถานศึกษาได้รับการปรับปรุงหรือพัฒนาในทางที่ดีขึ้นเรื่อยๆ ให้เป็นไปตามลำดับ
     3. ตามความจำเป็น (Need) หมายถึง การคำนึงถึงความต้องการหรือความจำเป็นจากหลายๆฝ่ายโดยเฉพาะผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งผู้ปกครองนักเรียนและชุมชนที่อยู่ในเขตบริการ เขาต้องการและปรารถนาอยากเห็นสถานศึกษาดำเนินงานกิจการต่างๆไปในทิศทางใด อย่างไร อันนี้คนที่เป็นผู้นำทางด้านการศึกษาพึงต้องทราบและรับรู้ แล้วมาร่วมกันกำหนดนโยบายและแผนงาน เพื่อจะได้นำไปปรับปรุงและพัฒนางานให้สอดคล้องกับความต้องการจากทุกฝ่ายและตามความจำเป็นของบริบทในแต่ละพื้นที่
     4. ร่วมบริหารจัดการ (Management) หมายถึง การเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนเข้ามาบริหารจัดการการศึกษา โดยยึดระเบียบ กฎเกณฑ์ ข้อบังคับ รวมจนถึงแผนกลยุทธ์ แผนปฏิบัติการประจำปี ที่ทุกฝ่ายได้ร่วมกันกำหนดเอาไว้ ซึ่งตรงนี้ ผู้บริหารสถานศึกษาในฐานะที่เป็นตัวกลางหรือเป็นศูนย์รวมจิตใจของผู้ร่วมงานจากทุกฝ่าย ต้องคอยอำนวยให้ความสะดวก สามารถติดต่อประสานงานกับทุกๆฝ่ายได้เป็นอย่างดี มีทั้งศาสตร์และศิลป์ในการบริหารจัดการกิจการต่างๆของสถานศึกษา
     5.ให้เกิดผลสัมฤทธิ์ (Achievement) หมายถึง การตรวจสอบผลการปฏิบัติงานตามกิจกรรมและโครงการต่างๆที่แต่ละฝ่ายได้รับมอบหมาย ประสบผลสำเร็จมากน้อยแค่ไหน เป็นไปตามเป้าหมายหรือบรรลุตามวัตถุประสงค์เท่าใด และสอดคล้องกับแผนกลยุทธ์ แผนปฏิบัติการประจำปีหรือไม่ซึ่งเป็นข้อมูลพื้นฐานที่สำคัญในการที่จะทำการวิเคราะห์ วิจัย และพัฒนา ถือว่าเป็นการปรับปรุงกระบวนการทำงานอย่างต่อเนื่องอันสอดคล้องกับหลักการบริหารมุ่งคุณภาพทั้งองค์การที่ทุกคนต้องมีส่วนร่วมในทุกขั้นตอน (TQM) ทั้งนี้ ก็เพื่อให้ผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาของนักเรียนดีขึ้น และเป็นไปตามจุดมุ่งหมายที่สังคมต้องการ นั้นก็คือ นักเรียนดี เก่ง และมีสุข
     6. มีการสร้างเครือข่าย (Network) หมายถึง การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกัน ใครมีอะไรดีก็ต้อง เผยแพร่ประชาสัมพันธ์แก่ผู้ร่วมงาน มีการรวมกลุ่มสร้างศูนย์เครือข่ายสถานศึกษา รวมทั้งมีการติดต่อสื่อสารกับองค์การภายนอกทั้งหน่วยงานของรัฐและเอกชน โดยเฉพาะในยุคโลกไร้พรมแดนอย่างปัจจุบันใครมีเครือข่ายมากที่สุดมักจะได้เปรียบอยู่เสมอ
     7. เติมเต็มด้วยความรัก (I love you) หมายถึง การทำงานกับผู้ร่วมงานอย่างเป็นกัลยาณมิตร มีการเอาใจใส่ให้กำลังใจอยู่ตลอดเวลา เป็นการเสริมสร้างบรรยากาศที่ดีในสถานที่ทำงาน กระตุ้นให้ทุกคนทำงานด้วยใจรัก รักในหน้าที่การงานของตน รักทุกๆคนที่เป็นเพื่อนร่วมงาน และที่สำคัญ รักนักเรียนทุกคนดั่งลูกของตนเอง เพราะเขาเหล่านั้นคือทรัพยากรบุคคลที่มีค่ายิ่งเหนือสิ่งอื่นใด พร้อมที่จะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่ดีและมีคุณภาพต่อไปในวันข้างหน้า

บทสรุปสุดท้ายก็คือ .....คนสำราญ งานสำเร็จ

หมายเหตุ: เป็นเนื้อหาบางส่วนของบทความที่ได้รับพิจารณาคัดเลือกตีพิมพ์ลงในวารสารวิชาการ สำนักงานวิชาการและมาตรฐานการศึกษา สำนักงานคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน 
ปีที่ 14 ฉบับที่ 4 (เดือนตุลาคม-ธันวาคม 2554)

วันจันทร์ที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2555

"คำบอกเล่า"..ของผู้อำนวยการโรงเรียน : 6


                                                          ครั้งที่ ปีการศึกษา ๒๕๕๔

          ขอความสันติสุขจงมีแด่ทุกท่าน...บรรยากาศควันหลงจากงานวันครูอำเภอมายอ วันที่ ๑๖ มกราคม ๒๕๕๕ ณ โรงเรียนมายอ(สถิตย์ภูผา) จัดโดยชมรมผู้บริหารและครูอำเภอมายอ ขอชื่นชมว่า เป็นการจัดงานวันครูที่น่าทึ่งตระการตาสามารถรวบรวมผู้ประกอบวิชาชีพครูจากหลายหน่วยงานที่มีอยู่ในอำเภอมายอ แล้วผนึกกำลังเป็นปึกแผ่นหลอมรวมเป็นหนึ่งเดียว ซึ่งไม่ค่อยจะบ่อยนักที่ปรากฏให้เห็นในพื้นที่สามจังหวัดบ้านเราและตั้งแต่ยุบเปลี่ยนหน่วยงานสปอ.มาเป็นเขตพื้นที่การศึกษา จากการที่ผมได้สัมผัสทำงานมาหลายอำเภอและหลายเขตพื้นที่ ยังไม่เคยเห็นมีการจัดงานวันครูที่ยิ่งใหญ่อลังการในลักษณะเช่นวันนี้

          นายพิศาล อาแว นายอำเภอมายอ มาร่วมเป็นเกียรติเป็นประธานในพิธีเปิด ในขณะเดียวกัน นายนพพร มากคงแก้ว ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาปัตตานี เขต ๒ ได้เดินสายไปเยี่ยมเยียนทุกอำเภอในเขตพื้นที่เพื่อเป็นกำลังใจแด่หัวอกของคนที่เป็นครูทั้งหลาย ท่านเปรียบครูเสมือนเรือจ้าง จากฝั่งที่มีแต่คนไร้ซึ่งความหวัง อยู่ท่ามกลางความมืดมน ขาดโอกาสไม่มีความรู้และโง่เขลา แล้วนำพาผู้คนเหล่านั้นข้ามไปสู่ฝั่งที่เต็มไปด้วยความหวัง เห็นช่องทางแห่งแสงสว่าง เกิดการเรียนรู้ กลับกลายเป็นคนดี เก่ง และใช้ชีวิตอย่างมีความสุข เราทุกคนจึงควรภูมิใจที่เกิดมาได้เป็นครู นับว่าเป็นอาชีพที่มีเกียรติอย่างยิ่ง ถึงแม้เราจะอยู่หน่วยงานที่เล็ก เป็นคนเล็กๆ ไม่สามารถจะพลิกนโยบายหรือทำนโยบายด้วยตนเองเหมือนกับผู้นำระดับประเทศหรือระดับกระทรวงกรม แต่โดยหน้าที่และความรับผิดชอบ เราทุกคนสามารถที่จะสร้างคนให้เป็นคนดี เก่ง และมีสุขได้ ที่สำคัญนับจากนี้ไป เราจำเป็นที่จะต้องมารวมตัวกัน จากหนึ่งคนรวมเป็นสิบ จากหนึ่งโรงเรียนรวมเป็นหลายโรง จากหลายโรงเรียนรวมเป็นหนึ่งเขตพื้นที่ เพราะในอีกสามปีข้างหน้า ปี ๒๕๕๘ เราทุกคนต้องเตรียมตัวการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน การเรียนรู้ภาษาอย่างน้อยสองภาษาเป็นสิ่งที่หลีกหนีไม่พ้นหากทุกคนจะก้าวขึ้นบนเวทีอาเซียนอย่างพร้อมเพรียงกัน ทั้งหมดนี้เป็นข้อคิดจากท่านผอ.นพพร มากคงแก้ว ฝากไว้ให้กับครูทุกท่าน จึงได้ถอดความบันทึกไว้เพื่อให้เราได้จดจำและถือปฏิบัติตามที่ท่านแนะนำไว้

          ข้อคิดสุดท้ายเนื่องในโอกาสวันครู ขอคัดจากกระดานสนทนาเฟสบุ๊คของนายประสิทธิ์ หนูกุ้ง ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษายะลา เขต ๑ ท่านเขียนไว้ว่า “ครูคือใคร ใครคือครูในวันนี้ ครูคือสถาปนิกสร้างสังคม(เพิ่มเติมได้ครับ)” ท่านเปิดโอกาสให้สมาชิกเขียนต่อ เลยมีหลายท่านที่ได้เขียนเสริมเติมเต็ม อย่างเช่น ท่านผอ.มุคตาร์ รร.บ้านรือเปาะ สพป.นราธิวาส เขต ๓ เขียนว่า “ครูคือแบบทำให้เห็น เป็นอย่างให้ตาม นำก่อนให้เห็นมากกว่าสอนแต่วาจา” ผมจึงบอกว่า “ใช่เลย คือครูที่สังคมต้องการในวันนี้ ตัวอย่างที่ดี มีค่ากว่าคำสอน” กล่าวโดยสรุป ภาษาและเทคโนโลยีเป็นของคู่กันที่คุณครูยุคใหม่ต้องพึงเอาใจใส่ และทั้งสองเป็นสิ่งที่ทุกคนเรียนรู้กันได้ และขอแสดงความยินดีกับคุณครูรร.บ้านลางสาดทั้งสองท่านในวันนี้ที่ได้รับเกียรติบัตรและเข็มเชิดชูเกียรติครูแสนดีจากครุสภา คือ คุณครูอนุสรา แม็ง และที่ได้รับเกียรติบัตรครูดีในดวงใจเนื่องในวันครูของอำเภอมายอ คือ คุณครูเนาวรัตน์ เทพสุวรรณ

บันทึกไว้ : เมื่อวันที่ ๑๖ มกราคม ๒๕๕๕
ขอขอบคุณ : คุณสิรวีร์ โสตถิสถาวร สพป.ปัตตานี เขต ๒... ผู้เอื้อเฟื้อภาพ

"คำบอกเล่า"..ของผู้อำนวยการโรงเรียน : 5

                                                        ครั้งที่ปีการศึกษา ๒๕๕๔

          ขอความสันติสุขจงมีแด่ทุกท่าน...หลายเหตุการณ์หลากวาระที่ถาโถมเข้ามาในห้วงเวลาเดียวกัน จนมิทันจะจดบันทึกเรื่องราวเหล่านั้นได้ทั้งหมด กอปรกับข้อจำกัดในตัวผู้เขียนที่ไม่ใช่นักเขียนมืออาชีพ คิดไม่ออกว่าจะจับต้นชนปลายอย่างไรดี แต่ครั้นมีโอกาสได้สัมผัสรับฟังข้อคิดจากต้นแบบผู้นำในวงการต่างๆเมื่อเร็วๆนี้ จึงได้เกิดแรงบันดาลใจอย่างแรงกล้าที่อยากจะเล่ามาฝากถึงพวกเรา ถึงแม้ว่าจะไม่ปะติดปะต่อเขียนออกมาได้ไม่สละสลวยก็ตามที
          เมื่อวันที่ ๖ ธ.ค.๒๕๕๔ นายธีระ มินทราศักดิ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี ได้เดินทางมามายอเป็นอำเภอแรกหลังจากที่เพิ่งรับตำแหน่งมาไม่กี่วัน เพื่อมอบนโยบายให้กับหัวหน้าส่วนราชการ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน โต๊ะอีหม่าม และผู้บริหารสถานศึกษาในอำเภอมายอทุกท่าน ท่านได้นำยุทธศาสตร์ “ปัตตานีสันติสุข”ให้ทุกหน่วยงาน โดยเฉพาะข้าราชการ จะต้องทำความเข้าใจ ลดความหวาดระแวง สร้างความยุติธรรม และนำปัตตานีสันติสุขกลับคืนมาให้ได้ และบทสรุปสุดท้ายท่านได้ยึดหลักการ “คนสำราญ งานสำเร็จ” มาใช้ในการบริหารราชการอีกด้วย ทั้งนี้เพื่อให้เกิดความผาสุกแก่ประชาชน ฉันใดก็ฉันนั้น สำหรับหน่วยงานสถานศึกษาอย่างเราจะทำอย่างไรให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งนักเรียนและผู้ปกครองมีความพึงพอใจต่อการปฏิบัติงานของโรงเรียนให้ได้มากที่สุด
          ถัดมาเมื่อวันที่ ๑๒ ธ.ค.๒๕๕๔ งานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในวโรกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๗ รอบ ณ โรงแรมซี เอส ปัตตานี เป็นที่น่ายินดีที่ได้รับเกียรติจากดร.กษมา วรวรรณ ณ อยุธยา มาเป็นประธานในพิธีเปิด จากนั้นท่านได้เข้าร่วมถกเสวนาประเด็นการศึกษาในจังหวัดชายแดนใต้กับดร.รุ่ง แก้วแดง และดร.สมเกียรติ ชอบผล ท่านดร.รุ่ง ได้เกริ่นปัญหาผลสัมฤทธิ์ตกต่ำในทุกวิชาแต่เป็นที่น่าแปลกใจวิชาภาษาอังกฤษที่นี่กลับมีคะแนนสูงกว่าคะแนนเฉลี่ยโดยรวมของประเทศ ท่านดร.กษมา จึงได้เสริมว่านี่คือจุดเด่นของเราและต้องพลิกวิกฤติให้เป็นโอกาสในการที่จะเข้าสู่อาเซียน
          สุดท้ายเมื่อวันที่ ๑๓ ธ.ค. ๒๕๕๔ ผมในนามคณะครู นักเรียน และผู้ปกครอง ได้ไปต้อนรับนายพิศาล อาแว ซึ่งกลับมารับตำแหน่งนายอำเภอมายออีกครั้ง ท่านได้เน้นวิถีชีวิตเศรษฐกิจพอเพียง ประจวบเหมาะพอดีในวันที่ ๒๐ ธ.ค.นี้ ท่านจะมาตรวจเยี่ยมพื้นที่ ต.กระเสาะ พร้อมกับคณะกรรมการประเมินกำนันดีเด่น ทางโรงเรียนบ้านลางสาดของเราได้รับเกียรติจากท่านกำนันให้ไปนำเสนอผลงานเด่นของโรงเรียน นั่นคือ”ยาสีฟันสมุนไพร” รางวัลโครงงานรองชนะเลิศอันดับ ๑ ล่าสุด จากโรงพยาบาลมายอ ขอขอบคุณคณะครูและนักเรียนทุกคนที่ช่วยกันสร้างสรรค์ผลงานชิ้นนี้จนประสบผลสำเร็จ
                                                  บันทึกไว้ เมื่อวันที่ ๑๔ ธันวาคม ๒๕๕๔

"คำบอกเล่า"..ของผู้อำนวยการโรงเรียน : 4


ครั้งที่ ปีการศึกษา ๒๕๕๔
          ขอความสันติสุขจงมีแด่ทุกท่าน...วันนี้เป็นวันสิ้นปีงบประมาณ แต่ยามนี้เวลาสี่ทุ่มกว่าผมเพิ่งกลับมาถึงบ้าน มาจากศึกษาดูงานโรงเรียนต้นแบบในจังหวัดกระบี่ ยังไม่คิดที่จะพักนอน กลัวความรู้ที่ยังร้อนๆกลับกลายเป็นไอน้ำระเหยหายไปในกลีบเมฆ พร้อมหาเอกสารและเศษกระดาษที่เคยบันทึกแล้วมาเรียบเรียงจารึกเก็บไว้เป็นความทรงจำว่ามีอะไรบ้างที่เป็นปฏิบัติการสำคัญในรอบเดือนนี้
          ปฏิบัติการแรก การประชุมปฏิบัติการป้องกันและแก้ปัญหาการอ่านไม่ออกและเขียนไม่ได้ เมื่อวันที่ ๘-๙ ก.ย.๕๔ ณ โรงแรมเซาเทิร์นวิว ปัตตานี โดยผู้บริหารโรงเรียนได้รับเชิญเข้าร่วมเฉพาะวันแรกเท่านั้น นายประหยัด สุขขี รองผอ.สพป.ปัตตานี เขต ๒ ได้เล่าไว้อย่างน่าสนใจว่า สาเหตุที่ตัวท่านเองต้องอ่อนวิชาคณิตเพราะโดนครูดุด่าเกือบทุกวัน เลยทำให้มีเจตคติที่ไม่ดีต่อวิชานี้ แต่กลับมาสอนคณิตได้ดีเมื่อตอนที่มาเป็นครู เหตุเพราะไม่มีความรู้มาก่อนจึงจำเป็นต้องเตรียมตัวมาเป็นอย่างดี ในขณะที่สอนวิชาภาษาไทยกลับไม่ได้ดีด้วยเหตุที่คิดว่าเป็นวิชาเอกที่ได้ร่ำเรียนรู้มาจึงไม่ต้องเตรียมตัวแบบเข้าห้องสอนได้เลยจนลืมขั้นตอนที่สำคัญไป
          ปฏิบัติการที่สอง โครงการการพัฒนาศักยภาพบทบาทคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน เมื่อวันที่ ๒๒-๒๓ ก.ย.๕๔ ณ หาดแก้วรีสอร์ท สงขลา นายนพพร มากคงแก้ว ผอ.สพป.ปัตตานี เขต ๒ ได้สรุปสามเสาหลักที่สำคัญในการจัดการศึกษาให้ประสบผลสำเร็จนั่นคือ เขตพื้นที่ โรงเรียน และชุมชน ในขณะที่ผศ.ดร.เครือศรี วิเศษสุวรรณภูมิ วิทยากรจากมอ.ปัตตานี ทิ้งประเด็นให้ทุกคนได้ขบคิดว่าทำไม “เด็กไทยเก่งเป็นกระจุก แต่โง่เป็นกระจาย” จึงฝากความหวังให้กับสามประสานดังกล่าวว่าจะทำอย่างไร หากยังปล่อยเป็นเช่นนี้ บนเวทีอาเซียนเราไม่มีโอกาสที่จะได้เป็นผู้นำแน่นอนหรือไม่ก็ตกขอบเวทีโลกไปเลย
          ปฏิบัติการสุดท้าย การอบรมพัฒนาผู้บริหารสถานศึกษา/ศึกษาดูงานโรงเรียนต้นแบบในสพป.กระบี่ เมื่อวันที่ ๒๙-๓๐ ก.ย.๕๔ นายเรวัต มะลิสุวรรณ ผอ.รร.บ้านคลองไคร ได้ฝากข้อคิดให้กับผู้บริหารทุกท่านที่มาในวันนี้ว่า การที่จะเข้าสู่โรงเรียนคุณภาพได้นั้นเราจำเป็นที่จะต้องมีการเปลี่ยน นั่นคือ เปลี่ยนตัวเราเอง เปลี่ยนตัวครู และเปลี่ยนตัวนักเรียนให้ได้ อ่านหนังสืออย่างเดียวเราจะได้แค่ความรู้ ต้องออกไปดูข้างนอกบ้างเพื่อให้ได้พบกับประสบการณ์จริง
          ขอจบลงท้ายด้วยวันสิ้นปีงบประมาณอีกครั้ง ยังคงมีอีกหลายท่านเหมือนกับผมที่เพิ่งรู้ว่า สาเหตุปีงบประมาณของประเทศไทยเราต้องเริ่ม ๑ ตุลานั้น เพื่อให้ตรงกับความเหมาะสมของสังคมเกษตรกรรมในสมัยก่อนที่ควรออกปลายหน้าฝนแล้วก็ให้ทันใช้ในหน้าหนาวและหน้าแล้งต่อ เป็นการบอกเล่าต่อจากดร.วิษณุ เครืองาม ด้วยความที่เราอยู่หน่วยงานราชการควรที่พึงทราบที่มาที่ไป พบกันใหม่ในปีงบประมาณใหม่
                                             บันทึกไว้เมื่อวันที่ ๓๐ กันยายน ๒๕๕๔

วันอังคารที่ 24 เมษายน พ.ศ. 2555

"คำบอกเล่า"..ของผู้อำนวยการโรงเรียน : 3

                                                        ครั้งที่ ปีการศึกษา ๒๕๕๔          
          ขอความสันติสุขจงมีแด่ทุกท่าน...เมื่อวานนี้ เป็นวันอีดิลฟิตรี ฮิจเราะห์ศักราช ๑๔๓๒ วันที่เราได้เห็นภาพพี่น้องมุสลิมทั่วโลกร่วมเฉลิมฉลองกันหลังจากร่วมกันถือศีลอดในเดือนรอมาฎอนที่เพิ่งผ่านพ้นไป ยุคไอทีหรือยุคเทคโนโลยีสารสนเทศได้ย่อโลกของเรายิ่งแคบลงอย่างไม่น่าเชื่อ กลายเป็นหมู่บ้านโลก(Global village) หมู่บ้านหนึ่งซึ่งทำให้ผู้คนทั่วสารทิศสามารถติดต่อสื่อสารและเห็นภาพซึ่งกันและกันได้อย่างทั่วถึงและรวดเร็วทันใจด้วยระบบอินเตอร์เน็ทหรือไซเบอร์โฮม
          เราคงจะได้พบเจอนวตกรรมสิ่งใหม่ๆอีกมากมายที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งเป็นสิ่งที่ท้าทายและกดดันให้กับคุณครูหรือบรรดาผู้ที่เป็นอาจารย์ผู้สอนอย่างยิ่ง จริงๆแล้วหากย้อนกลับไปในอดีตเพียงไม่กี่ปีนี้เอง เรามีแค่คุณครูได้อยู่ในห้องเรียน มีตำราได้สอน ก็เห็นเพียงพอแล้วที่จะปั้นลูกศิษย์ของเราให้เป็นคนเก่งคนดี แบบว่านอนสอนง่ายเป็นคนที่ไม่ดื้อรั้น แต่ครั้นในปัจจุบัน ตั้งแต่โลกก้าวหน้ามีนวตกรรมทางด้านเทคโนโลยีเข้ามาแพร่กระจาย กลายเป็นดาบสองคมให้กับทุกสังคมโดยปริยาย เพราะสิ่งที่หลั่งไหลเข้ามาพร้อมกับความก้าวหน้าของเทคโนโลยีนั้น เป็นทั้งองค์ความรู้อันหลากหลายที่ให้ประโยชน์มากมาย และเป็นทั้งสิ่งชั่วร้ายอบายมุขที่ให้โทษแก่เราปะปนกัน ดังนั้น เราในฐานะที่เป็นครูผู้สอนจะหยุดนิ่งอยู่กับที่ไม่ได้อีกแล้ว ต้องปรับปรุงพัฒนาตนเองก้าวไปข้างหน้าพร้อมๆกัน หากไม่เช่นนั้นแล้วเราคงจะตามลูกศิษย์ลูกหาของเราไม่ทัน
          จากประสบการณ์การสอนในหลายปีที่ผ่านมา ผมมักจะบอกและแนะนำทั้งลูกศิษย์และเพื่อนร่วมงานอยู่เสมอว่า นอกจากทุนความรู้เดิมที่เราได้เรียนรู้มา ไม่ว่าใครจะไปจบสาขาอะไรก็แล้วแต่ ยังมีอีกสองเรื่องที่เราต้องเรียนรู้เสริมเพิ่มเติมให้กับตนเองเพื่อเตรียมการรองรับการเป็นพลเมืองอาเซียนและพลเมืองโลก นั้นก็คือ ภาษาและเทคโนโลยี ใครเก่งหลายภาษาย่อมมีภาษี ใครเก่งเทคโนโลยีย่อมได้เปรียบ ทั้งคู่จึงเป็นเสมือนกับขนมปาท่องโก๋ซึ่งดูแล้วจะแยกออกจากกันไม่ได้ แต่ทั้งสองเรื่องนี้เป็นสิ่งที่ใครๆก็สามารถฝึกฝนและเรียนรู้กันได้ ไม่จำกัดเพศไม่จำกัดวัย อยู่ที่ความตั้งใจและมุ่งมั่น ขอเพียงแค่ให้เราได้เรียนรู้อยู่ทุกวันเหมือนกับนักเรียนได้เรียนรู้ภาษาสัมพันธ์ วันละประโยคในยามเช้า แรกเริ่มอาจจะยังไม่เข้าใจ แต่หากได้เปิดโอกาสปล่อยให้ฝึกซ้ำๆ นานวันจะซึมซับไปเอง
          จึงขอขอบคุณคุณครูผู้ที่เป็นต้นคิด เพ่งพินิจดูทิศทางการแถลงนโยบายของรัฐบาลชุดใหม่ หนึ่งในสามของจุดมุ่งหมายสำคัญก็ยังไม่พ้นการประกาศนำประเทศไทยเตรียมความพร้อมก้าวสู่เป็นประชาคมอาเซียน โดยจะพัฒนาคุณภาพการศึกษาด้วยการส่งเสริมรักการอ่าน เน้นให้คนไทยมีโอกาสได้เรียนรู้ทั้งภาษาอังกฤษและภาษาเพื่อนบ้าน เพื่อพัฒนาสถานศึกษาเข้าสู่สากล และมีการสนับสนุนเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการศึกษาด้วยการแจกแท็บเล็ทให้กับนักเรียนพร้อมจัดหาอินเตอร์เน็ทที่มีความเร็วสูง แม้จะมีการถกเถียงวิพากษ์วิจารณ์กันถึงข้อดีข้อเสีย แต่ข้อเท็จจริงก็คือ ใครหรือโรงเรียนใดที่เตรียมตัวพร้อมมาก่อนเท่านั้นที่จะได้เปรียบรับอานิสงค์จากนโยบายอันนี้

บันทึกไว้: เมื่อวันที่ ๓๑ สิงหาคม ๒๕๕๔

"คำบอกเล่า"..ของผู้อำนวยการโรงเรียน : 2

ครั้งที่ ปีการศึกษา ๒๕๕๔

          ขอความสันติสุขจงมีแด่ทุกท่าน...กาลเวลาก็เหมือนกับสายน้ำที่ไม่เคยรอใคร ในวันจันทร์ที่จะถึงนี้เป็นวันที่พี่น้องมุสลิมจะเริ่มถือศีลอดร่วมกันอีกครั้ง ยังจำได้ว่าในวันที่ผมมารับตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านลางสาดนั้น เหลือเวลาเพียงแค่อีกหนึ่งวันก็จะเข้าสู่เดือนรอมาฎอน นั่นแสดงว่าผมได้มาอยู่ที่นี่ครบรอบหนึ่งปีพอดีตามปฏิทินอิสลาม เวลาช่างรวดเร็วเหลือเกินเป็นเหมือนกับเทคโนโลยีที่มีความเร็วสูงจนเราจะปรับตัวก้าวตามไม่ทัน
          แต่กระนั้นก็ตาม เราทุกคนต่างก็ไม่เคยละทิ้งในภาระหน้าที่ สำนึกความรับผิดชอบที่มีต่อนักเรียน สำหรับหัวอกของคนที่เป็นครูอย่างแท้จริงนั้น ผมเชื่อมั่นเหลือเกินว่า ทุกคนมีอยู่เต็มหัวใจ ผมขอขอบคุณเพื่อนครูทุกท่านที่ได้เอาใจใส่และดูแลนักเรียนของเราได้เป็นอย่างดีมาโดยตลอด รวมทั้งได้ร่วมกันคิด ร่วมกันทำ เพื่อนำผลงานที่ดีเลิศของโรงเรียนไปประชาสัมพันธ์ในงานมหกรรม “ชบาเบ่งบาน การศึกษาปัตตานี” ครั้งที่ ๓ เมื่อวันที่ ๒๘ – ๓๐ กรกฎาคม ๒๕๕๔ ณ สวนสมเด็จพระศรีนครินทร์ จ.ปัตตานี โดยเฉพาะในวันที่ ๒๘ กรกฎาคม นั้น ทั้งนักเรียนและคุณครูทุกท่านได้ไปร่วมกันสาธิตการประดิษฐ์ดอกไม้จากเศษวัสดุที่เหลือใช้ให้กับบรรดานักเรียนและคณะครูจากโรงเรียนต่างๆ ในจังหวัดปัตตานี ถือว่าเป็นแบบอย่างที่ดียิ่ง แต่ที่สำคัญกว่านั้น เราได้ทั้งมิตรภาพและเครือข่ายที่เพิ่มขึ้น พูดถึงเครือข่ายแล้วผมก็อดที่จะบอกกล่าวไม่ได้กับความดีอีกหลายเรื่องที่คุณครูของเราได้กระทำลงไป ในบางเรื่องนั้นปฏิบัติได้อย่างรวดเร็วและถูกต้องจนเพื่อนครูในศูนย์เครือข่ายด้วยกันมาขอคำแนะนำและเอาเป็นแบบอย่าง จึงขอชื่นชมเป็นพิเศษ และขอให้ท่านได้รักษาความดีนี้ตลอดไป
          อีกเรื่องหนึ่งที่ผมจะขอเล่าต่อ เป็นควันหลงจากงานชุมนุมลูกเสือจังหวัดชายแดนภาคใต้ ครั้งที่ ๗ เมื่อวันที่ ๑๑ – ๑๖ กรกฎาคม ๒๕๕๔ ณ ค่ายลูกเสือไทยเฉลิมพระเกียรติ อ.ห้วยยอด จ.ตรัง โดยมีลูกเสือ เนตรนารี และผู้บังคับบัญชา ทั้งจากประเทศไทยและมาเลเซีย เข้าร่วมทั้งหมด ๒,๑๓๒ คน ผมไปในฐานะเป็นหนึ่งในคณะกรรมการฝ่ายพิธีการ ได้ทำการแปลเอกสารที่เป็นคำกล่าวรายงานทั้งพิธีเปิดและพิธีปิด และเอกสารอื่นๆที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนถึงเป็นพิธีกรในภาคภาษาอังกฤษ จะเห็นได้ว่า กิจกรรมลูกเสือนี้ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งเพื่อการรองรับการก้าวเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ภายในปี ๒๕๕๘ ไปแล้ว จึงอยากฝากคุณครูและนักเรียนทุกคนว่า วันนี้เราได้เตรียมตัวแล้วหรือยัง และเตรียมความพร้อมได้มากน้อยแค่ไหนเพื่อที่จะอ้าแขนรับกับความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้นี้
          หวังเป็นอย่างยิ่งว่ากิจกรรม”ภาษาสัมพันธ์...วันละประโยค” จะเป็นจุดประกายเริ่มต้นที่เราทุกคนจะได้ตระหนักถึงความสำคัญของการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ขอขอบคุณอีกครั้งกับคุณครูทุกท่านที่ได้ร่วมกันริเริ่มและปฏิบัติอย่างเอาจริงเอาจัง ทั้งนี้เพื่อ “เด็กตานี มีอนาคต” ตามยุทธศาสตร์ ๑๒ วาระตานี ของนายนิพนธ์ นราพิทักษ์กุล ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานีคนปัจจุบัน

บันทึกไว้ เมื่อวันที่ ๓๐ กรกฎาคม ๒๕๕๔

วันจันทร์ที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2555

"คำบอกเล่า"..ของผู้อำนวยการโรงเรียน : 1

ครั้งที่ ปีการศึกษา ๒๕๕๔
          ขอความสันติสุขจงมีแด่ทุกท่าน ข้อความที่ท่านกำลังอ่านอยู่ขณะนี้เป็นคำบอกเล่าของ ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านลางสาดที่ได้ลาดตระเวนไปเสาะแสวงหาองค์ความรู้จากหลายๆแหล่ง จึงอยากแบ่งปันเรียงร้อยเป็นถ้อยคำมาฝากให้กับเพื่อนครูได้รับอ่านบ้าง โดยได้หยิบบางประเด็นที่สำคัญอันเกี่ยวข้องกับวิชาชีพครูเป็นหลัก

          ในรอบเดือนนี้ ผมมีโอกาสได้เข้าร่วมประชุมผู้บริหารสถานศึกษาในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้ เมื่อวันที่ ๘ มิถุนายน ณ โรงแรมซีเอส ปัตตานี ไปฟังวาระสำคัญจากดร.ชินภัทร ภูมิรัตน เลขาธิการ กพฐ. ในเรื่องการหาแนวทางการจัดการศึกษาจังหวัดชายแดนใต้ ปีการศึกษา ๒๕๕๔ เพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษาทั้งระบบและยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนให้สูงขึ้น เกือบหนึ่งชั่วโมงของการบรรยาย ท่านมักจะอ้างงานวิจัยประกอบการบรรยายโดยตลอด มีงานวิจัยจากต่างประเทศชิ้นหนึ่ง ซึ่งได้ข้อค้นพบว่า เด็กนักเรียน ๒ คน อายุ ๘ ขวบ มีภูมิหลังที่เหมือนกัน เมื่อคนหนึ่งมีโอกาสได้เรียนกับครูเก่ง คือครูมืออาชีพ และอีกคนหนึ่งเรียนกับครูอ่อน ซึ่งหมายถึงคนที่ทำงานอาชีพครู แล้วไม่กระตือรือร้นที่จะเรียนรู้พัฒนาตนเองเพิ่มเติม ปรากฏว่าเพียงแค่ระยะเวลา ๓ ปี คนที่เรียนกับครูเก่ง มีความก้าวหน้าห่างไกลจากคนที่เรียนกับครูอ่อนถึง ๕๐ เปอร์เซ็นต์ไตล์ จากงานวิจัยดังกล่าว ผมจึงอยากฝากข้อคิดให้กับเพื่อนครูได้รับทราบว่า ไม่ว่านักเรียนของเราจะอ่านออกหรือเขียนไม่ได้ ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนจะสูงหรือต่ำ หัวใจสำคัญนั้นอยู่ที่ การดูแลเอาใจใส่ของคุณครู ซึ่งเป็นคำตอบสุดท้าย ดังข้อความที่ท่านเลขาฯ กพฐ. ได้ยกอ้างไว้ว่า “You can’t improve student learning without improving instruction"อีกประเด็นหนึ่งที่สำคัญซึ่งจะต้องบันทึกไว้เพื่อเป็นความภาคภูมิใจแก่ชาวลางสาดทุกคน นั้นคือ การแข่งขันทักษะวิชาการระดับศูนย์เครือข่ายกูวิงตรัง เมื่อวันที่ ๒๙ มิ.ย.๒๕๕๔ นักเรียนของเรามีความสามารถได้รับรางวัลชนะเลิศ จำนวน ๒ รายการ รองชนะเลิศ อันดับ ๑ จำนวน ๒ รายการ และรองชนะเลิศ อันดับ ๒ อีกจำนวน ๓ รายการ เป็นการแสดงศักยภาพทั้งของนักเรียนและคณะครูทุกคนที่ได้ร่วมกันเสียสละ ทุ่มเทกำลังกายและกำลังทรัพย์ นับว่าคุ้มค่ากับผลที่ได้รับและแม้จะมีบางรายการต้องพลาดไปบ้าง อย่างน้อยก็เป็นประสบการณ์ที่เราควรจดจำไว้ แล้วจงเตรียมพร้อมค่อยมาสู้กันใหม่ในโอกาสต่อไป ขอเป็นกำลังใจพร้อมที่จะยืนอยู่เคียงข้างตลอดเวลา

          นี้คือข้อความที่เป็นคำบอกเล่าฉบับปฐมฤกษ์ ตั้งใจแล้วว่าจะเขียนให้ได้อย่างสม่ำเสมอ เมื่อได้ไปค้นพบเจอะเจอสิ่งดีๆที่แห่งไหน “มีดต้องลับเรื่อยๆเพื่อให้ได้คมฉันใด ปากกาก็ต้องหยิบมาเขียนบ่อยๆเพื่อลับสมองให้เกิดข้อคิดมากขึ้นฉันนั้น” จะมาเล่าสู่กันฟังอีกเรื่อยๆ ในวาระต่อไป

บันทึกไว้ เมื่อวันที่ ๓๐ มิถุนายน ๒๕๕๔

วันพฤหัสบดีที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2555

บันทึกครั้งสุดท้าย..ที่ลูโบ๊ะกาเยาะ

          บันทึกจากใจฝ่ายบริหาร...อันที่จริงแล้ว ทั้งผู้บริหารสถานศึกษาและครูต่างก็เป็นผู้นำทางด้านการศึกษา แต่การจะให้คุณครูเป็นผู้นำทางด้านการศึกษาที่ดีได้นั้น สำคัญอยู่ที่ผู้บริหารต้องตระหนักในเรื่องงานวิชาการเป็นหลัก หากคิดที่จะร่วมกันขับเคลื่อนงานการศึกษามุ่งเข้าสู่โรงเรียนคุณภาพ ให้เป็นที่ยอมรับจากทุกฝ่าย “ครูจำเป็นต้องสร้างนักเรียนให้ดี เก่ง และมีสุขฉันใด ผู้บริหารก็ต้องสร้างครูดี เก่ง และมีสุขฉันนั้น
          บันทึกการนิเทศภายใน “หัวใจอยู่ที่เด็ก” ถือว่าเป็นการนิเทศแบบกัลยาณมิตรอีกรูปแบบหนึ่ง ซึ่งทางทีมงานฝ่ายบริหารโรงเรียนบ้านลูโบ๊ะกาเยาะพยายามที่จะนำประสบการณ์ความรู้และข้อคิดเห็นที่ดีๆจากแหล่งเรียนรู้ที่หลากหลายมาเล่าสู่กันฟัง ด้วยความตั้งใจอย่างแน่วแน่ที่อยากจะให้คุณครูทุกท่านเป็นผู้นำทางด้านการศึกษา โดยเฉพาะเป็นผู้นำในห้องเรียนเพื่อที่จะนำพานักเรียนออกไปสู่โลกทัศน์ที่กว้างไกล สามารถอ่านเขียน คิดวิเคราะห์และเรียนรู้ด้วยตนเองตลอดไป
          ผู้เขียน...ในฐานะที่ได้รับมอบหมายดูแลรับผิดชอบฝ่ายงานวิชาการ ฝ่ายงานนโยบายและแผน และฝ่ายงานบริหารงานทั่วไปของโรงเรียนบ้านลูโบ๊ะกาเยาะ
          ขอขอบคุณุณอาแซ ดอแม ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านลูโบ๊ะกาเยาะ ที่เปิดโอกาสให้บริหารงานฝ่ายต่างๆได้อย่างอิสระ ท่านให้ความสำคัญกับงานด้านวิชาการเป็นพิเศษพร้อมที่จะนิเทศคุณครูได้ทุกที่ทุกเวลา อีกทั้งเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงที่มักจะสอนคนอื่นเป็นผู้นำที่ดีได้ด้วย
          ขอขอบคุณคุณครูอับดุลลาเตะ ดือเระ หัวหน้าฝ่ายงานนโยบายและแผน ที่ได้นำนโยบายและแผนงานทั้งของโรงเรียนและหน่วยงานเหนือมาสู่ภาคปฏิบัติ สำเร็จลุล่วงเป็นไปตามเป้าหมาย
          ขอขอบคุณคุณครูสุดใจ แอสะ หัวหน้าฝ่ายงานวิชาการ ที่ได้ร่วมกันคิด ร่วมกันทำ ร่วมกันปรึกษาหารือมาโดยตลอด เพื่อที่จะขับเคลื่อนงานวิชาการของโรงเรียนให้มีความก้าวหน้า
          ขอขอบคุณคุณครูปฏิญญา ลามะทา หัวหน้าฝ่ายงานบุคคล ที่ได้ยึดหลักระบบคุณธรรมในการบริหารงานบุคคลมาต่อเนื่อง และที่สำคัญได้ช่วยขัดเกลาภาษาให้สละสลวยสวยงามยิ่งขึ้นจนทำให้ผู้เขียนพกความมั่นใจพร้อมที่จะนำเสนอต่อผู้อ่านในทุกระดับ
          ขอขอบคุณคุณครูศรินยา ทวีลาศ หัวหน้าฝ่ายงานการเงินและสินทรัพย์ ที่ได้เอื้อเฟื้อข้อมูลจากสิ่งตีพิมพ์ต่างๆไม่ว่าจะเป็นหนังสือพิมพ์ วารสาร หรือนิตยสาร
          ขอขอบคุณคุณครูยูไนน๊ะ แยบรอแย หัวหน้าฝ่ายงานบริหารงานทั่วไป ที่ได้ป้อนข้อมูลจากงานธุรการโรงเรียนได้อย่างรวดเร็วและฉับไว
          และสุดท้ายขอขอบคุณคุณครูโรงเรียนบ้านลูโบ๊ะกาเยาะทุกท่านที่ได้ติดตามอ่านบันทึกการนิเทศภายใน“หัวใจอยู่ที่เด็ก” แล้วสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ต่อไป นั้นคือความสุขที่ยิ่งใหญ่ที่มาจากใจจริงของทีมงานฝ่ายบริหารโรงเรียนบ้านลูโบ๊ะกาเยาะ

บันทึกไว้ในวันสุดท้ายของนายตอฮีรน หะยีเลาะแม ณ โรงเรียนบ้านลูโบ๊ะกาเยาะ "ที่จะเก็บไว้เป็นความทรงจำตลอดไป" August 09,2010