วันพุธที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2563

ดีอักโข ณ โกตาบารู

                               

          “คนดีตกน้ำไม่ไหล ตกไฟไม่ไหม้” ผมเชื่อมั่นในคุณงามความดีที่กระทำลงไปตามอมตะพจน์ที่โบราณได้กล่าวไว้ นับว่าเป็นบุญที่ได้มาเจอเพื่อนร่วมงานที่ดีมาโดยตลอด ไม่ว่าจะไปอยู่ที่ไหน จะต้องปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งใดก็ตาม กอปรกับได้น้อมรับกระแสพระราชดำรัสของในหลวง รัชกาลที่ ๙ “เข้าใจ เข้าถึง และพัฒนา” มาปรับประยุกต์ใช้อย่างต่อเนื่อง อันสอดคล้องกับ ๓ หลักการสำคัญที่ท่านนบีมุหัมหมัด (ศ็อลฯ)ได้ปฏิบัติเป็นกิจวัตร นั้นคือ รู้จักซึ่งกันและกัน(ตะอารุฟ) เข้าใจซึ่งกันและกัน(ตะฟาฮัม) และช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกัน(ตะอาวุน)

เขียนวกไปวกมา แต่ถ้าหากจะให้พูดคงจะวกวนมากกว่านี้ เพราะเป็นคนที่พูดไม่เก่ง บวกเสียงไม่ไพเราะ ทั้งไม่มีลูกเล่น ปาฐกถายิ่งไม่เป็น แต่ขอเน้นการปฏิบัติเป็นสำคัญ ทุกครั้งที่ได้มีโอกาสไปรับตำแหน่งผู้บริหารสถานศึกษาในช่วงที่ผ่านมา ปรัชญาที่สวยหรู วิสัยทัศน์ที่งดงาม พันธกิจที่ดีเลิศ ไม่ค่อยจะเขียนได้หรอก แต่มักจะบอกกับครูอยู่เสมอว่า เราจะร่วมกันทำอย่างไรให้นักเรียนอ่านออกเขียนได้ คิดวิเคราะห์เป็น ร่วมหล่อหลอมให้เกิดสมรรถนะสำคัญ และมีการเปลี่ยนพฤติกรรมที่เป็นไปตามคุณลักษณะอันพึงประสงค์ กล่าวโดยสรุปคือ คุณภาพนักเรียนต้องมาก่อน แต่จุดหมายปลายทางที่เราต้องการให้ผู้เรียนดี เก่ง และมีสุขนั้น สำคัญก็คือ ครูก็ต้องเป็นคนดี เก่ง และมีสุข เป็นอันดับแรกก่อนเช่นกัน คงไม่แตกต่างอะไรกับแนวทางของนักบริหารนักปกครองที่ประสบความสำเร็จทั้งหลายต่างก็เห็นพ้องต้องกันว่า “คนสำราญ งานสำเร็จ” เป็นหลักการที่สามารถขับเคลื่อนองค์กรไปสู่เป้าหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ณ โรงเรียนบ้านโกตาบารู ก็เป็นอีกสถานศึกษาหนึ่งซึ่งทำให้ผมภาคภูมิใจแม้จะเป็นช่วงเวลาแค่ ๒ ปี แต่จากวันแรกที่ได้เข้ามาเมื่อวันที่ ๑ พ.ย.๖๑ มีนักเรียน ๕๖๐ คน แล้วก่อนจะออกไปเมื่อวันที่ ๕ พ.ย.๖๓ มีนักเรียนเพิ่มขึ้นเป็น ๖๐๙ คน รวมทั้งมีผลงานที่ติดอันดับตั้งแต่ศูนย์เครือข่าย เขตพื้นที่ จังหวัด ภูมิภาค จนถึงระดับชาติเป็นที่การันตี
ทั้งหมดนี้ ต้องขอบคุณคุณครูเป็นพิเศษเพราะครูเป็นผู้ทำ ส่วนผู้อำนวยการนั้นมีแต่ได้ ถือเป็นเรื่องปกตินะครับสำหรับผู้ที่หวังอยากจะเป็นนักการบริหารการศึกษาที่ประสบความสำเร็จในสักวันหนึ่งข้างหน้า จำเป็นต้องอาศัยครูจริงๆ เพราะครูคือผู้ที่อยู่ใกล้ชิดกับเด็กมากที่สุดอย่างถ่องแท้ครับ