วันอังคารที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564

 


                                                                         นายตอฮีรน หะยีเลาะแม

                                          รองผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษายะลา เขต ๒

ภูมิลำเนา บ้านนาเตย ตำบลโกตาบารู อำเภอรามัน จังหวัดยะลา

ประวัติการศึกษา
- ชั้นประถมศึกษาปีที่ ๖...โรงเรียนบ้านนาเตย
- มัธยมศึกษาตอนต้น ... โรงเรียนคณะราษฎรบำรุง จังหวัดยะลา
- มัธยมศึกษาตอนปลาย ... โรงเรียนดารุสสาลาม อำเภอระแงะ จังหวัดนราธิวาส
- ประกาศนียบัตรวิชาภาษาอังกฤษเฉพาะอาชีพ (ครู) ... มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมมาธิราช
- อนุปริญญาศิลปศาสตร์ (ภาษาอังกฤษธุรกิจ) ... สถาบันราชภัฏยะลา
- ครุศาสตรบัณฑิต (ภาษาอังกฤษ) ... สถาบันราชภัฏยะลา
- ศึกษาศาสตรมหาบัณฑิต (การบริหารการศึกษา) มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี


ประสบการณ์การทำงาน
ปี ๒๕๓๗ วิทยากรอิสลามศึกษา โรงเรียนคีรีบูรวัฒนา(ตีบุ) สำนักงานการประถมศึกษาจังหวัดยะลา
ปี ๒๕๔๒ ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ที่ ๔ และ สมาชิกสภาตำบลโกตาบารูโดยตำแหน่ง
ปี ๒๕๔๖ อาจารย์ ๑ ระดับ ๓ โรงเรียนบ้านบือเล็งใ ต้ สำนักงานการประถมศึกษาจังหวัดนราธิวาส
ปี ๒๕๔๘ ครู อันดับ คศ. ๑ โรงเรียนบ้านยะต๊ะ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษายะลา เขต ๑
ปี ๒๕๕๒ รองผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านลูโบ๊ะกาเยาะ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษานราธิวาส เขต ๓
ปี ๒๕๕๓ ผู้อำนวยการ ชำนาญการ โรงเรียนบ้านลางสาด สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาปัตตานี เขต 2
ปี ๒๕๕๕ ผู้อำนวยการ ชำนาญการพิเศษ โรงเรียนบ้านบาตะกูโบ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาปัตตานี  เขต ๒
ปี ๒๕๕๗ ผู้อำนวยการ ชำนาญการพิเศษ โรงเรียนบ้านกระเสาะ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาปัตตานี  เขต ๒
ปี ๒๕๕๘ ผู้อำนวยการ ชำนาญการพิเศษ โรงเรียนอนุบาลยะรัง สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาปัตตานี  เขต ๒

ปี ๒๕๖๑ ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านโกตาบารู ชำนาญการพิเศษ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษายะลา เขต ๑
ปี ๒๕๖๓ รองผู้อำนวยการสำนักเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษายะลา เขต ๒
ประสบการณ์ระดับนานาชาติ
- ปี ๒๕๔๗ ได้รับการคัดเลือกจากองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งชาติญี่ปุ่น(JICA) ให้ทุนไปศึกษาดูงานด้านการจัดการสิ่งแวดล้อม ณ ประเทศญี่ปุน
- ปี ๒๕๔๘ ได้รับการคัดเลือกจากหน่วยงาน East West Center, Hawaii, USA. ให้ทุนไปศึกษาดูงานด้านการจัดการการศึกษา ณ ประเทศสหรัฐอเมริกา
รางวัลภาคภูมิใจ
-โล่และเข็มเชิดชูเกียรติ "ผู้มีคุณูปการต่อการใช้ภาษาไทย พ.ศ.๒๕๖๐" จากกรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม
-เครื่องหมายเชิดชูเกียรติ "คุรุสดุดี" ในวันครูปี ๒๕๖๑ จากคุรุสภา กระทรวงศึกษาธิการ
-เกียรติบัตรเป็น "ผู้บังคับบัญชาดีเด่น" ประเภท ผู้สนับสนุน ปี ๒๕๖๑ จากสำนักงานลูกเสือแห่งชาติ กระทรวงศึกษาธิการ
-เกียรติบัตรเป็น "ผู้บังคับบัญชาดีเด่น" ประเภท ผู้บริหาร ปี ๒๕๖๓ จากสำนักงานลูกเสือแห่งชาติ กระทรวงศึกษาธิการ
-เกียรติบัตรข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาดีเด่น "คนศรีเสมา จชต." ปี ๒๕๖๔ จาก ศปบ.จชต. กระทรวงศึกษาธิการ
เว็บบล็อก  
"Educational Leader" http://hayeelohmae.blogspot.com      
"Knowledge Management" http://tohiron12.blogspot.com 
FACEBOOK: Tohiron Hayeelohmae
อีเมลล์ tohiron2512@gmail.com IDLine: tohironha โทรศัพท์ ๐๘๙๕๙๖๗๒๓๘

วันพุธที่ 8 กันยายน พ.ศ. 2564

หนึ่งปีที่มีความหมาย



“หนึ่งปีไวได้ผ่านเห็นงานชัด ภาพกระจัดกระจายบรรยายผล
แต่ทุกภาพซาบซึ้งถึงทุกคน ที่อดทนช่วยทำร่วมนำพา
เหตุผู้นำนำเปลี่ยนเราเรียนรู้ ยะลาสองก้าวสู่อยู่แนวหน้า
เหตุผู้ตามร่วมสร้างต่างนานา ยะลาสองสง่างดงามจริง”
เกริ่นนำด้วยกลอนสุภาพ ๒ บทที่กลั่นออกมาจากใจ อยากจารึกจดจำไว้สำหรับสิ่งดี ๆ ในช่วงหนึ่งปีที่ผู้เขียนได้มาปฏิบัติหน้าที่เป็นรองผอ.สพป.ยะลา เขต ๒ ซึ่งครบหนึ่งปีพอดีโดยตามระเบียบในวันที่ ๒๗ ต.ค.๒๕๖๔ หลังจากที่ได้รับคำสั่งแต่งตั้งเมื่อวันที่ ๒๘ ต.ค.๒๕๖๓ อันเป็นบทร้อยกรองที่เป็นมุมมองภาพโดยรวมก่อนที่จะสาธยายต่อด้วยบทร้อยแก้วเขียนเป็นความเรียงที่มีเพียงแค่หนึ่งหน้ากระดาษหากไม่รวมกับภาพประกอบ
ประการแรกที่อยากเล่าสู่กันฟังคือ ผู้เขียนมีความภาคภูมิใจยิ่งที่มีโอกาสมาบรรจบพบกันเป็นครั้งที่ ๓ กับท่านผอ.อาดุลย์ พรมแสง ผอ.สพป.ยะลา เขต ๒ ครั้งแรกผู้เขียนบรรจุเป็นอาจารย์ ๑ ระดับ ๓ ณ ร.ร.บ้านบือเล็งใต้ ท่านเป็นหัวหน้าการ สปอ.รือเสาะ ครั้งที่ ๒ ผู้เขียนไปรับตำแหน่งรองผอ.ร.ร.บ้านลูโบ๊ะกาเยาะ ท่านเป็นผอ.สพท.นราธิวาส เขต ๓ นับว่าเป็นความโชคดีที่ผู้เขียนได้มาร่วมงานกับผู้บังคับบัญชาที่เป็นผู้นำแห่งการเปลี่ยนแปลง (Transformational Leadership)คือท่านเป็นผู้นำที่สามารถสร้างคนอื่นให้เป็นผู้นำได้ด้วยอย่างแท้จริง มีแนวคิดและนโยบายที่ชัดเจนเห็นรูปธรรม ด้วยผลงานที่ประจักษ์ในการร่วมขับเคลื่อนการบริหารการศึกษากับทีมงานในทุกหน่วยงานการศึกษาหรือทุกเขตพื้นที่การศึกษาที่ท่านได้ไปอยู่
ประการถัดไป ก็นับว่าเป็นความโชคดีของผู้เขียนอีกเช่นกันไม่ว่าจะไปอยู่ที่ไหนในตำแหน่งใดได้เจอเพื่อนร่วมงานที่ดีมาโดยตลอด ครั้นเมื่อมาอยู่ยะลา เขต ๒ ตั้งแต่ตำแหน่งเดียวกันทั้งท่านรองสมคิดและท่านรองรัชดา ที่เพิ่งย้ายกลับไปใกล้ภูมิลำเนา และทั้งท่านรองวรวิทย์และท่านรองสิรินารถ ที่เพิ่งได้เข้ามา ล้วนแต่เป็นเพื่อนร่วมงานที่ดีและแต่ละท่านมีความสามารถทั้งนั้น คือผลพลอยได้ให้ผู้เขียนได้เรียนรู้จากทุกท่านอยู่เสมอ รวมทั้งได้เจอบรรดาข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาในสังกัดสพป.ยะลา เขต ๒ ทั้งในสำนักงานและในสถานศึกษาที่มากด้วยศักยภาพ คอยต้อนรับด้วยความอบอุ่นทุกครั้งที่ได้ร่วมงานกันในภารกิจต่างๆตามที่ได้รับมอบหมาย ทำให้ผู้เขียนรู้สึกสนุกและมีความสุขยิ่งนักในการทำงานกับทุกๆฝ่าย
ประการสุดท้าย “คนสำราญ งานสำเร็จ” คือสัจธรรมที่ทำให้สพป.ยะลา เขต ๒ ของเรา ประสบผลสำเร็จในหลายๆด้านในรอบปีที่ผ่านมาอย่างเห็นได้ชัดครับ ตั้งแต่ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนเพิ่มขึ้น ทั้ง ONET INET RT NT การนำนโยบาย ๑๒ ข้อสู่การปฏิบัติ บวกกับเพชรเสมายะลา เขต ๒ เพื่อมอบโล่และเกียรติบัตรยกย่องเชิดชูเกียรติให้กับสถานศึกษาและบุคลากรที่มีผลงานดีเด่น กอปรกับการนำหลักการทำงานของท่านผอ.สพป.ยะลา เขต ๒ “รวดเร็ว ถูกต้อง โปร่งใส ใส่ใจบริการ” มาร่วมบริหารจัดการทำให้เกิดนวตกรรมโปรแกรมการจัดการเรียนการสอนและการอบรมทางออนไลน์ โปรแกรมE-Money และโปรแกรมการสืบค้นเครื่องราช ฯ เป็นต้น ทั้งหมดนี้เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้สพป.ยะลา เขต ๒ ของเราได้รับการประเมิน ITA ในลำดับที่ ๑๒ ของประเทศ จึงเป็นความภาคภูมิใจร่วมกันที่ชาวยะลา เขต ๒ เรา ที่ได้มีส่วนร่วมในการทำงานเป็นทีมในทุกๆด้านจากทุกๆฝ่ายแม้อาจจะเหน็ดเหนื่อยบ้างแต่คงจะหายเหนื่อยกันเป็นปลิดทิ้งครับสำหรับช่วงหนึ่งปีของปีงบประมาณ ๒๕๖๔ ที่ผ่านมา

วันเสาร์ที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2564

ปรับวิธีการเรียนรู้ใหม่..ในยุควิถีใหม่

                                

         วิถีใหม่ วิถีคุณภาพ การศึกษาขั้นพื้นฐานในยุคโควิด ๑๙ (New Normal of Learning)..เป็นผลกระทบที่ทำให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษาจะต้องปรับวิธีการเรียนรู้..ทุกหน่วยงานต้องปรับเปลี่ยนระบบการทำงาน..ทุกสถานศึกษาต้องปรับกิจกรรมการเรียนการสอนให้ยืดหยุ่นและเป็นไปตามบริบท..ปรับบ้านเป็นโรงเรียน ปรับพ่อแม่เป็นครู..ผู้ปกครองอาจต้องเพิ่มภาระมากขึ้น..ถ้อยประโยคที่ผมได้เกริ่นนำเหล่านี้ เป็นการสรุปใจความสำคัญจากที่ประชุมผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาทั่วประเทศ ผ่านระบบสื่ออิเล็กทรอนิกส์ เมื่อวันที่ ๓๐ กรกฎาคม ๒๕๖๔ โดยมีท่านดร.อัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน เป็นประธานในพิธีเปิด พร้อมชี้แจงนโยบายการบริหารจัดการศึกษาภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า ๒๕๑๙ ที่จะต้องดำเนินการจัดการศึกษาต่อไปโดยเน้นให้ทุกฝ่ายช่วยกันคิดสร้างสรรค์นวัตกรรมเป็นตัวขับเคลื่อน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความพร้อมของบริบทในแต่ละพื้นที่เป็นสำคัญ

          ประชุมออนไลน์..ประเมินออนไลน์..นิเทศออนไลน์..การสอนออนไลน์..การเรียนออนไลน์ นับจากนี้ไปเราจะได้คุ้นเคยกับวิถีใหม่ในโลกแห่งออนไลน์ชัดเจนยิ่งขึ้น อันที่จริงเราก็สัมผัสมาบ้างแล้วก่อนที่จะเจอกับโควิดที่เกิดขึ้นจากระลอกแรก เพียงแต่เราไม่ค่อยจะคุ้นชินได้มากเท่าไหร่นัก อันเนื่องจากกิจกรรมใดก็ตามแต่หากได้รวมกลุ่มได้พบหน้ากันนั้นย่อมดีกว่าและจะรู้สึกถึงความซาบซึ้งความผูกพันได้มากกว่า แต่สถานการณ์โควิดบีบบังคับเราต้องเปลี่ยนวิถีชีวิตปกติใหม่(New Normal) ให้เราต้องอยู่ในครรลองของสังคมออนไลน์โดยปริยาย ผมเคยเรียนหลักสูตรประกาศยบัตรวิชาภาษาอังกฤษเฉพาะอาชีพ(ครู) ของมสธ. ศึกษาจากบทเรียนโมดูลซึ่งมีหน่วยการเรียนรู้ที่สำเร็จรูปในตัวเองและมุ่งให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ด้วยตนเอง โดยเป็นตำราเอกสารแต่ละสาระบรรจุในแต่ละเล่มที่ค่อนข้างหนามาก แต่วันนี้ผมก็ถูกบังคับด้วยตำแหน่ง ต้องกลับมาเรียนภาษาอังกฤษอีกครั้ง แต่ข้อแตกต่างคือ เป็นบทเรียนโมดูลไร้เอกสาร (Paperless) สามารถเรียนด้วยตนเองจากสื่ออิเล็กทรอนิกส์ได้ทั้งจากเครื่องคอมพิวเตอร์หรือเครื่องโทรศัพท์มือถือ นี้คืออีกหนึ่งนวัตกรรมด้านการศึกษาที่ผมเห็นว่าเหมาะกับสถานการณ์ปัจจุบันยิ่ง ครั้นเมื่อมีโอกาสได้ต้อนรับผู้ตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการ นายณัฐพงษ์ นวลมาก ลงพื้นที่ตรวจติดตามการจัดการเรียนการสอนตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า เมื่อวันที่ ๑๒ ก.ค.ที่ผ่านมา ณ ร.ร.นิคมสร้างตนเองพัฒนาภาคใต้ ๑ จึงถือโอกาสเสนอความเห็น ๒ ประการ คือ ๑) ฝากท่านสื่อถึงรัฐมนตรีหรือรัฐบาลว่า ควรจัดสรรงบแจกแท็บเล็ตให้กับนักเรียนทุกคนเพื่อเป็นสื่ออุปกรณ์สืบค้นการเรียนรู้ อาจจะประเดิมแจกเฉพาะนักเรียนยากไร้ก่อนก็ได้หากรัฐบาลจะบอกว่างบไม่เพียงพอที่จะจัดสรรให้ทั้งหมด ๒) จัดสรรงบติดตั้งสัญญาณอินเตอร์เน็ตได้เข้าถึงทุกพื้นที่ เป็นความเห็นที่ตรงประเด็นหรือไม่หรืออาจจะมากไปในแง่ของการจัดสรรงบประมาณนั้นผมก็ไม่ทราบ แต่ผมเชื่อเหลือเกินว่าหากนักเรียนทุกคนได้รับโอกาสเท่าเทียมกันก็สามารถที่จะเรียนรู้วิชาต่าง ๆ ไปพร้อม ๆกันถึงแม้ว่าความสามารถของแต่ละคนย่อมมีความแตกต่าง แต่ทุกคนก็ย่อมมีโอกาสในเรื่องของการรับรู้ภายใต้สถานการณ์วิกฤติโดยสามารถได้ใช้สื่ออุปกรณ์ที่เหมือนกันด้วยความเสมอภาค

          ห้องเรียนกลับด้าน (Flipped Classroom)..การศึกษาโดยครอบครัว (Home School)..อีก ๒  รูปแบบการจัดการศึกษาที่เหมาะกับสถานการณ์โควิดหรือวิกฤติอื่น ๆที่อาจจะเกิดขึ้นอีกในอนาคตข้างหน้า มุมมองโดยส่วนตัวผมเห็นว่าห้องเรียนกลับด้านนั้นจะเหมาะที่สุดเมื่อโควิดเริ่มทุเลา จัดเรียนที่บ้าน ๓ วัน อีก ๒ วันมาส่งงานที่โรงเรียน พร้อมนำเสนอ อภิปราย ร่วมจัดนิทรรศการแสดงผลงานฯ ก็แล้วแต่บริบทของครูที่เป็นผู้อำนวยการสอน นี้คือบทสะท้อนอันเป็นตัวอย่างที่เราสามารถจะมาปรับเปลี่ยนประยุกต์ใช้ในการจัดการศึกษาในยุควิถีใหม่ อาจจะมีนวัตกรรมใหม่ๆมากกว่านี้อีกต้องลุ้นรอติดตามกันต่อไป แต่จะให้โควิดหมดเกลี้ยงรอเปิดห้องเรียน(On site)อย่างเดียว กว่าจะถึงวันนั้นเด็กๆของเราโดยส่วนใหญ่ก็สายไปแล้วครับที่พวกเขาจะมีโอกาสได้ตักตวงองค์ความรู้จากสื่อการเรียนรู้ในโลกดิจิทัล        

       

วันศุกร์ที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2564

เดินตามนโยบาย “เด็กไทยวิถีใหม่ อ่านออกเขียนได้ทุกคน”

  

              “เราถูกสบประมาทว่าจัดการศึกษาไม่มีคุณภาพ เราจึงต้องยกระดับการจัดการเรียนการสอนเพื่อให้เด็กไทยไม่แพ้ใครในโลก” เป็นถ้อยประโยคส่วนหนึ่งซึ่งคุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้กล่าวไว้ในที่ประชุมออนไลน์เพื่อขับเคลื่อนนโยบาย “เด็กไทยวิถีใหม่ อ่านออกเขียนได้ทุกคน” เมื่อวันที่ ๓๐ มิถุนายน ๒๕๖๔ นับว่าเป็นคำสบประมาทที่ท้าทายยิ่งให้กับเราชาวผู้นำด้านการศึกษา ไม่ว่าจะเป็นผู้นำตั้งแต่ระดับห้องเรียนคือครูผู้สอน ผู้บริหารสถานศึกษา จนถึงผู้บริหารการศึกษาในระดับเขตพื้นที่ รวมทั้งบุคลากรทางการศึกษาอื่นๆที่เกี่ยวข้องทั้งหลาย พึงต้องระดมพลังสมองที่จะต้องร่วมกันหาวิธีการที่ดีที่สุดเพื่อลบล้างคำสบประมาทดังกล่าวให้ได้

              แต่กระนั้นก็ตาม ท่ามกลางวิกฤติการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า ๒๐๑๙ กำลังบานปลายกระจายไปทั่วภูมิภาคและทุกพื้นที่ ดูเหมือนจะตอกย้ำคำท้าทายยิ่งทวีเพิ่มขึ้นเข้าไปอีก ในช่วงขณะสถานการณ์ปกติการจัดการศึกษาของเราในภาพรวมถูกประเมินคุณภาพค่อนข้างต่ำในระดับย่ำแย่อยู่แล้ว นับประสาอะไรยามเมื่อวิกฤติโควิดเข้ามาแทรกแซงจนจะจัดกิจกรรมการเรียนการสอนในห้องเรียนแบบดั้งเดิม(On site)ไม่ได้ แล้วการจัดการเรียนการสอนในรูปแบบอื่นๆจะให้เกิดคุณภาพที่ดีกว่าเดิมได้อย่างไร หากเรามองพิเคราะห์อย่างผิวเผินหรือมองคร่าวๆในแง่แห่งความเป็นจริง แต่เราทุกฝ่ายจะหยุดคิด หยุดทำและนิ่งดูดายไม่ได้ครับ เซลล์สมองของเด็กทั้งซีกขวาและซ้ายที่เหมาะกับวัยเรียนรู้ในทุกระดับต้องอับเฉาไม่ได้รับการพัฒนาไปด้วยในทันที แต่จะให้พวกเขาได้เรียนรู้ด้วยรูปแบบวิธีไหน อย่างไร สำคัญอยู่ที่เราทุกฝ่ายต่างหากจะต้องมาร่วมกันขบคิด

              ท่านดร.อัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ได้กล่าวเพิ่มเติมในที่ประชุมในครั้งนี้อย่างน่าสนใจว่า “เอกภาพในนโยบาย หลากหลายในการปฏิบัติ..ทั้งหมดเป็นหลักการ.. แต่วิธีการ อยู่ที่ บริบทของแต่ละพื้นที่”เป็นคำกล่าวที่เห็นด้วยอย่างยิ่งกับถ้อยประโยคเหล่านี้ กอปรกับบนพื้นฐานข้อเท็จจริงจากสถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้น ณ ปัจจุบัน เราจะพยายามตีห่างจากโควิด เพื่อรอคอยที่จะเปิดการจัดเรียนการสอนในห้องเรียน(On site)ให้ได้ แต่ดูท่าทีเหมือนจะหนีไม่พ้นเสียแล้ว มีแต่โควิดเข้ามาหาอยู่ใกล้เราทุกขณะ ดังนั้น เราต้องพร้อมที่จะอ้าแขนรับ พร้อมที่จะเผชิญฝ่าฟันสู้ไปด้วยกัน คิดค้นหารูปแบบหรือวิธีการสอนที่หลากหลายมาปรับประยุกต์ใช้ให้สอดคล้องกับแต่ละท้องที่ บางทีนี้คือวิกฤติที่กลายเป็นโอกาสอันยิ่งใหญ่สำหรับบางคนที่จะได้ค้นพบนวัตกรรมใหม่ๆในการจัดการเรียนการสอนในท่ามกลางวิถีชีวิตปกติใหม่(New normal) ก็อาจเป็นไปได้เสมอครับ

              กล่าวโดยสรุป ผมเชื่อมั่นในศักยภาพของครูเราครับ สามารถปรับวิธีเรียนเปลี่ยนวิธีสอนในช่วงสถานการณ์โควิดจนได้ในที่สุด และเชื่อเหลือเกินว่าในเร็วๆนี้จะได้เห็นนวัตกรรมด้านการสอนที่เป็นแบบอย่างจากครูเราแน่นอน อีกประการที่ผมอดที่จะปลื้มไม่ได้ เนื่องในโอกาสวันภาษาไทยแห่งชาติ ๒๙ กรกฎาคม ได้เห็นสถานศึกษาร่วมกันรณรงค์จัดกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการอนุรักษ์ภาษาไทย ด้วยวิธีการออนไลน์ มีการจัดกิจกรรมประกวดคัดลายมือ เขียนบทร้อยกรอง เขียนเรียงความ เขียนคำขวัญ ตอบปัญหาภาษาไทย ฯ ก็แล้วแต่ตามโอกาสที่เอื้ออำนวยหรือความสะดวกของแต่ละสถานศึกษาที่สามารถจะจัดได้ ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งที่เราได้เดินตามนโยบาย “เด็กไทยวิถีใหม่ อ่านออกเขียนได้ทุกคน” แล้วครับ

วันพุธที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2564

ข้างหลังฉาก..เล่าจากภาคสนาม


“แตกต่าง หลากหลาย งดงาม” เป็นความสุขท่ามกลางการปฏิบัติงานด้านการศึกษาที่ต้องอาศัยหลายๆฝ่ายเข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารจัดการการเรียนรู้เพื่อมุ่งให้เด็กไทยทุกคนที่อยู่ทุกแหล่งหล้ามีโอกาสได้รับการศึกษากันถ้วนหน้า เพราะด้วยการศึกษาเท่านั้นที่ทุกภาคส่วนต่างเห็นพ้องต้องกันว่าจะสามารถจรรโลงสังคมให้เกิดสันติสุขได้

ปัญหาสามจังหวัดชายแดนใต้เป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนและเร้นลึกจนยากที่จะเข้าใจได้ในบางครั้ง แต่พลังทีมงานทางด้านการศึกษา นักบริหารการศึกษา ผู้บริหารสถานศึกษา รวมทั้งครูและบุคลากรการศึกษาอื่นๆ แต่ละคนก็ยังครื้นเครงและกระฉับกระเฉงทำหน้าที่ของตนเองอย่างมีความสุข ซึ่งเชื่อเหลือเกินว่าทุกๆฝ่ายต่างก็มีหัวใจอยู่ที่เด็ก เพราะเด็กคือทรัพยากรบุคคลที่มีค่ายิ่งเหนือกว่าสิ่งอื่นใด บนพื้นฐานหลักการเดียวกันสำหรับเราทุกคนที่ทำงานด้านการศึกษาได้ร่วมกันตระหนัก
ในโอกาสที่ผู้เขียนได้ลงตรวจเยี่ยมสถานศึกษาหลายแห่งในสังกัดโดยอย่างเป็นทางการบ้างและไม่เป็นทางการบ้าง จึงได้สัมผัสหลายสิ่งหลายอย่างที่เป็นสภาพจริง ซึ่งบางสิ่งบางอย่างก็เป็นเรื่องที่ไม่เคยคาดคิดไม่เคยรู้มาก่อนจริงๆอันนี้ขอยอมรับ อย่างกรณีที่โรงเรียนบ้านลูโบ๊ะปันยัง อ.กาบัง ยังมีนักเรียนอีกจำนวนหนึ่งซึ่งก็นับว่าไม่น้อยเป็นร้อยกว่าคนที่อาศัยอยู่ในหมู่บ้านปาโตะไม่มีไฟฟ้าเข้าถึง และมีจำนวนนักเรียนอีกหลายคนที่ต้องเดินเท้าจากบ้านที่อยู่บนหุบเขาประมาณ ๔ กม. แล้วมาขึ้นรถรับส่งต่อจากถนนหนทางที่พอสะดวกไปยังโรงเรียนอีกประมาณ ๑๖ กม. จากเหตุการณ์โรงเรียนปิดอันเนื่องจากโควิดที่ผ่านมาคุณครูจึงจำเป็นต้องนำใบงานไปส่งถึงบ้านเพราะจะจัดการเรียนการสอนแบบออนไลน์ (On line)และออนแอร์ (On air)ย่อมไม่ได้อยู่แล้วด้วยข้อจำกัดที่ไม่มีไฟฟ้าใช้ จึงได้เห็นภาพเบื้องหลังของความตั้งใจและมุ่งมั่นของหัวอกคนที่เป็นครูอย่างน่าชื่นชมยิ่ง รวมทั้งการต้องตื่นตั้งแต่ยามเช้าตรู่ของนักเรียนเพื่อเตรียมการเดินทางไกลอย่างทรหดอดทนที่จะต้องมาโรงเรียนช่วงเปิดเรียนปกติ (On site) อย่างเป็นกิจวัตรประจำวัน หากมองในมุมกลับนับว่านักเรียนได้เรียนรู้ทักษะชีวิตที่สำคัญให้กับตนเองอย่างมีคุณค่า เพราะในสักวันหนึ่งข้างหน้าหากพวกเขาต้องเผชิญกับความยากลำบากจะด้วยวิกฤติใด อย่างน้อยพวกเขาได้ผ่านประสบการณ์แห่งการดิ้นรนมาแล้วในช่วงวัยเด็ก
เป็นเพียงหนึ่งตัวอย่างหนึ่งเรื่องราวที่ขอเล่าเป็นพิเศษ ยังมีอีกหลายเรื่องราวที่อยากจะเล่าแต่ไม่อาจจะเขียนได้หมดให้เป็นไปในคราเดียวกัน แต่ทุกสถานศึกษาที่ได้ไปเยี่ยมล้วนเเต่เห็นรอยยิ้มที่เปี่ยมด้วยความสุขทั้งจากผู้บริหาร คุณครูและบุคลากร นักเรียน ตลอดจนถึงผู้ปกครองและชุมชน เราพร้อมที่จะอดทนและฝ่าฟันไปด้วยกันนะครับ สามารถอ้าแขนรับได้กับทุกสถานการณ์ในเรื่องการจัดการการเรียนรู้เพื่อสู่ตัวนักเรียนให้ได้รับประโยชน์มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ในทุกโอกาสแม้จะเกิดวิกฤติอะไรก็ตาม
Different stage: Different village: Different age: Different image,
but we are the same happiness.

สร้างตัวอย่างให้คนไทย..สร้างโปร่งใสให้สังคม

        


สวัสดีปีใหม่ ๒๕๖๔ ครบรอบ ๒ เดือนพอดีที่ท่านดร.อาดุลย์ พรมแสง ผอ.สพป.ยะลา เขต ๒ ท่านดร.สมคิด หาแก้ว รองผอ.สพป.ยะลา เขต ๒ พร้อมด้วยผู้เขียนได้มารับตำแหน่งพร้อมเพรียงกันเมื่อเดือนพฤศจิกายนในปีที่ผ่านมา เราไม่มีเวลาที่ภาษาเชิงการเมืองชอบเปรียบเปรยนั้นก็คือไปฮันนี่มูนด้วยกันหลังจากรับตำแหน่งใหม่ๆ เมื่อได้รับมอบหมายงานในหน้าที่ต่างๆ แต่ละคนก็มุ่งมั่นปฏิบัติหน้าที่อย่างตั้งใจ ดูละม้ายคล้ายกับคติพจน์เดียวกันอย่างชัดเจน..จงทำงานให้สนุก แล้วเราจึงสนุกกับการทำงาน

ภายใต้สโลแกน “รวดเร็ว ถูกต้อง โปร่งใส ใส่ใจบริการ” ที่ท่านผอ.เขตได้มอบให้ไว้ ในฐานะที่ผู้เขียนรับผิดชอบดูแลงานกลุ่มบุคคลอีกงานหนึ่ง ซึ่งทางสพป.ยะลา เขต ๒ มีงานสำคัญที่จะต้องร่วมกันคิดร่วมกันทำกับคณะบุคลากรจากทุกๆฝ่ายทั้งในสำนักงานเขตพื้นที่และทั้งจากสถานศึกษาในสังกัด คือการสรรหาและเลือกสรรพนักงานราชการและสรรหาลูกจ้างชั่วคราวที่จ้างจากเงินงบประมาณรายจ่าย เมื่อห้วงเวลาเดือนธันวาคมทั้งเดือนตั้งแต่วันร่วมกันประชุมวางแผน วันประกาศ วันเปิดรับสมัคร วันออกข้อสอบ วันสอบข้อเขียน วันสอบสัมภาษณ์ จนถึงวันประกาศผล จนจบกระบวนการโดยเราได้ดำเนินการตามระเบียบทุกขั้นตอน สามารถประมวลสรุปคร่าวๆให้สอดคล้องกับสโลแกนทั้ง ๔ คำ ดังนี้

“รวดเร็ว” สพป.ยะลา เขต ๒ เรา ดำเนินการอย่างรวดเร็วในการเปิดรับสมัครพนักงานราชการและลูกจ้างชั่วคราว อาจจะกล่าวได้ว่าเป็นสนามแรกในเขตพื้นที่จังหวัดภาคใต้ เพราะผู้สมัครมีจนถึงจ.สุราษฎร์ธานี
“ถูกต้อง” สังเกตได้จากผู้สมัครมีจำนวนมากกว่า ๒ พันคน แต่เมื่อถึงขั้นตอนตรวจสอบคุณสมบัติ เราได้ตรวจสอบอย่างเคร่งครัด ไม่มีการลดหย่อนแม้จะรู้จักกับผอ.เขต รองผอ.เขต หรือเจ้าหน้าที่บางคน จนเหลือผู้สมัครทั้งสิ้น ๑๙๘๐ คน
“โปร่งใส” ใช้ระบบคุณธรรม ไม่มีอุปถัมป์ ภายใต้รัฐธรรมนูญเดียวกันทุกคนมีความเสมอภาค ใครอยู่จังหวัดใดสามารถมาสมัครได้เพราะเราเปิดกว้างไม่ปิดกั้น จึงไม่แปลกผู้ที่ได้รับคัดเลือกในครั้งนี้มีทั้งมาจากจ.พังงา นครศรีฯ สตูล พัทลุง สงขลา รวมทั้ง ๓ จชต. อาจกระทบกับคนในพื้นที่บ้างที่ได้มาเป็นจำนวนน้อย แต่อย่างน้อยเราได้คัดสรรเพชรเม็ดงามที่มีศักยภาพจริง
“ใส่ใจบริการ” ขอชื่นชมบุคลากร สพป.ยะลา เขต ๒ เป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะในช่วงวันรับสมัคร ต่างก็ทำงานจนถึงดึกดื่นเกือบทุกคืน เพื่อบริการน้องๆที่มาสมัครด้วยการเทคเเคร์ดูแลเอาใจใส่ ไม่มีคำว่าเหน็ดเหนื่อย
ถึงบรรทัดท้ายนี้ ในนามสพป.ยะลา เขต ๒ ขอขอบคุณบุคลากรทั้งในสำนักงานเขตพื้นที่และสถานศึกษาในสังกัดอีกครั้งที่ทุกฝ่ายได้ให้ความร่วมมือปฏิบัติหน้าที่ต่างๆตามที่ได้รับมอบหมายผ่านลุล่วงไปด้วยดี ขอให้ทุกท่านจงภูมิใจร่วมกันที่เราได้ร่วมกระทำในสิ่งที่เกิดความโปร่งใสให้กับสังคมบ้านเรา และนับว่าเป็นคุณงามความดีที่มีค่ายิ่งเหนือกว่าสิ่งอื่นใดที่เรามีโอกาสได้ทำงานร่วมกันเพื่อประเทศชาติของเราอย่างแท้จริง

ต่างหน้าที่..แต่มีจุดหมายเดียวกัน



         การเป็นผู้นำทางด้านการศึกษา ไม่ว่าจะอยู่ในตำแหน่งหน้าที่ใดตั้งแต่ผู้ที่เป็นครู ผู้บริหารสถานศึกษา ผู้บริหารการศึกษา ศึกษานิเทศก์ หรือบุคลากรทางการศึกษาอื่นที่เกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษา ล้วนแต่มีจุดหมายปลายทางเดียวกันนั้นก็คือ เพื่อให้เด็กเติบโตเป็นคนดี มีปัญญา และมีความสุข

ซึ่งเป็นที่สอดคล้องกับความมุ่งหมายของพระราชบัญญัติ การศึกษาแห่งชาติ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2562
มาตรา 6 การจัดการศึกษาต้องเป็นไปเพื่อพัฒนาคนไทย ให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ ทั้งร่างกาย จิตใจ สติปัญญา ความรู้ และคุณธรรม มีจริยธรรม และวัฒนธรรมในการดำรงชีวิต สามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีความสุข จะเห็นได้ว่าเป็นภาระหน้าที่ของทุกๆฝ่ายที่จะต้องเข้ามามีบทบาทและมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการการศึกษาให้เป็นไปตามเป้าหมายของพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติที่ได้กำหนดไว้ จึงจำเป็นต้องอาศัยทั้งครู ผู้บริหารสถานศึกษา ผู้บริหารการศึกษา ศึกษานิเทศก์ หรือบุคลากรทางการศึกษาอื่นที่เกี่ยวข้อง ที่จะต้องเข้ามาส่งเสริม สนับสนุน ให้การช่วยเหลือในด้านต่างๆ เพื่อร่วมขับเคลื่อนการศึกษาให้เกิดคุณภาพอย่างมีพัฒนาการ
เมื่อพูดถึงคำว่าคุณภาพ “คุณภาพการศึกษา อยู่ที่ ห้องเรียน” คำๆนี้ผู้เขียนเห็นด้วยอย่างยิ่ง เพราะสุดท้ายครูเท่านั้นพร้อมที่จะเป็นผู้นำในห้องเรียนเพื่อที่จะรังสรรค์ให้เด็กเกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมในทางที่ดีขึ้น มีการนำเทคนิคหรือวิธีการสอนที่หลากหลายมาปรับประยุกต์ใช้ให้สอดคล้องกับศักยภาพของนักเรียนแต่ละคน จึงขอชื่นชมและเป็นกำลังใจให้กับครูผู้ทำหน้าที่อำนวยการจัดการเรียนรู้เป็นพิเศษ โดยเฉพาะคุณครูที่สามารถอ้าแขนรับกับสถานการณ์โลกที่กำลังเปลี่ยนแปลงทั้งด้านเทคโนโลยีและด้านต่างๆที่เกิดขึ้นอย่างฉับพลันและรวดเร็ว แล้วสามารถปรับวิธีการเรียนรู้เพื่อนำเด็กเข้าสู่การเป็นพลเมืองโลกในศตวรรษที่ 21 และพร้อมทั้งสามารถที่จะผลักเด็กให้เข้าสู่ชีวิตปกติวิถีใหม่ (New Normal) นับว่าเป็นสิ่งท้าทายยิ่งให้กับครูผู้สอนในยุคปัจจุบัน
ในฐานะที่ผู้เขียนเคยทำหน้าที่เป็นครูและผู้บริหารสถานศึกษา มาวันนี้ในฐานะที่เป็นผู้ประสานงานระหว่างหน่วยงานการศึกษากับหน่วยงานสถานศึกษา ในตำแหน่งรองผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ซึ่งมีคนได้เปรียบเปรยไว้ว่า อยู่โรงเรียนเปรียบเสมือนปลูกต้นไม้ได้เพียง 1 ต้น แต่อยู่เขตพื้นที่เปรียบเสมือนได้ปลูกป่า ผู้เขียนจึงมีความตั้งใจอย่างแน่วแน่ขออาสาเป็นอีกแรงหนึ่งพร้อมที่จะร่วมขับเคลื่อนงานการศึกษาไปด้วยกันกับทุกๆฝ่ายที่เกี่ยวข้อง โดยภายใต้นโยบายสำคัญของท่านดร.อาดุลย์ พรมแสง ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษายะลา เขต 2 ซึ่งมี 12 ข้อ ดังต่อไปนี้
1. เพิ่มผลสัมฤทธิ์
2. พิชิตอ่านเขียน
3. โรงเรียนน่าอยู่
4. เชิดชูคุณธรรม
5. นัอมนำหลักปรัชญาฯ
6. ส่งเสริมภาษาสู่สากล
7. ผลงานประจักษ์ชัด
8. เร่งรัดนิเทศภายใน
9. ใส่ใจระบบประกัน
10. สร้างสรรค์ความร่วมมือ
11. ฝึกปรือความพร้อมปฐมวัย
12. ก้าวไกลเทคโนโลยี
พร้อมด้วยค่านิยมพื้นฐานของหน่วยงานนั้นคือ..
รวดเร็ว ถูกต้อง โปร่งใส ใส่ใจบริการ
Fast Correct Transparent and Service Mind