วันพุธที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2564

ข้างหลังฉาก..เล่าจากภาคสนาม


“แตกต่าง หลากหลาย งดงาม” เป็นความสุขท่ามกลางการปฏิบัติงานด้านการศึกษาที่ต้องอาศัยหลายๆฝ่ายเข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารจัดการการเรียนรู้เพื่อมุ่งให้เด็กไทยทุกคนที่อยู่ทุกแหล่งหล้ามีโอกาสได้รับการศึกษากันถ้วนหน้า เพราะด้วยการศึกษาเท่านั้นที่ทุกภาคส่วนต่างเห็นพ้องต้องกันว่าจะสามารถจรรโลงสังคมให้เกิดสันติสุขได้

ปัญหาสามจังหวัดชายแดนใต้เป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนและเร้นลึกจนยากที่จะเข้าใจได้ในบางครั้ง แต่พลังทีมงานทางด้านการศึกษา นักบริหารการศึกษา ผู้บริหารสถานศึกษา รวมทั้งครูและบุคลากรการศึกษาอื่นๆ แต่ละคนก็ยังครื้นเครงและกระฉับกระเฉงทำหน้าที่ของตนเองอย่างมีความสุข ซึ่งเชื่อเหลือเกินว่าทุกๆฝ่ายต่างก็มีหัวใจอยู่ที่เด็ก เพราะเด็กคือทรัพยากรบุคคลที่มีค่ายิ่งเหนือกว่าสิ่งอื่นใด บนพื้นฐานหลักการเดียวกันสำหรับเราทุกคนที่ทำงานด้านการศึกษาได้ร่วมกันตระหนัก
ในโอกาสที่ผู้เขียนได้ลงตรวจเยี่ยมสถานศึกษาหลายแห่งในสังกัดโดยอย่างเป็นทางการบ้างและไม่เป็นทางการบ้าง จึงได้สัมผัสหลายสิ่งหลายอย่างที่เป็นสภาพจริง ซึ่งบางสิ่งบางอย่างก็เป็นเรื่องที่ไม่เคยคาดคิดไม่เคยรู้มาก่อนจริงๆอันนี้ขอยอมรับ อย่างกรณีที่โรงเรียนบ้านลูโบ๊ะปันยัง อ.กาบัง ยังมีนักเรียนอีกจำนวนหนึ่งซึ่งก็นับว่าไม่น้อยเป็นร้อยกว่าคนที่อาศัยอยู่ในหมู่บ้านปาโตะไม่มีไฟฟ้าเข้าถึง และมีจำนวนนักเรียนอีกหลายคนที่ต้องเดินเท้าจากบ้านที่อยู่บนหุบเขาประมาณ ๔ กม. แล้วมาขึ้นรถรับส่งต่อจากถนนหนทางที่พอสะดวกไปยังโรงเรียนอีกประมาณ ๑๖ กม. จากเหตุการณ์โรงเรียนปิดอันเนื่องจากโควิดที่ผ่านมาคุณครูจึงจำเป็นต้องนำใบงานไปส่งถึงบ้านเพราะจะจัดการเรียนการสอนแบบออนไลน์ (On line)และออนแอร์ (On air)ย่อมไม่ได้อยู่แล้วด้วยข้อจำกัดที่ไม่มีไฟฟ้าใช้ จึงได้เห็นภาพเบื้องหลังของความตั้งใจและมุ่งมั่นของหัวอกคนที่เป็นครูอย่างน่าชื่นชมยิ่ง รวมทั้งการต้องตื่นตั้งแต่ยามเช้าตรู่ของนักเรียนเพื่อเตรียมการเดินทางไกลอย่างทรหดอดทนที่จะต้องมาโรงเรียนช่วงเปิดเรียนปกติ (On site) อย่างเป็นกิจวัตรประจำวัน หากมองในมุมกลับนับว่านักเรียนได้เรียนรู้ทักษะชีวิตที่สำคัญให้กับตนเองอย่างมีคุณค่า เพราะในสักวันหนึ่งข้างหน้าหากพวกเขาต้องเผชิญกับความยากลำบากจะด้วยวิกฤติใด อย่างน้อยพวกเขาได้ผ่านประสบการณ์แห่งการดิ้นรนมาแล้วในช่วงวัยเด็ก
เป็นเพียงหนึ่งตัวอย่างหนึ่งเรื่องราวที่ขอเล่าเป็นพิเศษ ยังมีอีกหลายเรื่องราวที่อยากจะเล่าแต่ไม่อาจจะเขียนได้หมดให้เป็นไปในคราเดียวกัน แต่ทุกสถานศึกษาที่ได้ไปเยี่ยมล้วนเเต่เห็นรอยยิ้มที่เปี่ยมด้วยความสุขทั้งจากผู้บริหาร คุณครูและบุคลากร นักเรียน ตลอดจนถึงผู้ปกครองและชุมชน เราพร้อมที่จะอดทนและฝ่าฟันไปด้วยกันนะครับ สามารถอ้าแขนรับได้กับทุกสถานการณ์ในเรื่องการจัดการการเรียนรู้เพื่อสู่ตัวนักเรียนให้ได้รับประโยชน์มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ในทุกโอกาสแม้จะเกิดวิกฤติอะไรก็ตาม
Different stage: Different village: Different age: Different image,
but we are the same happiness.

สร้างตัวอย่างให้คนไทย..สร้างโปร่งใสให้สังคม

        


สวัสดีปีใหม่ ๒๕๖๔ ครบรอบ ๒ เดือนพอดีที่ท่านดร.อาดุลย์ พรมแสง ผอ.สพป.ยะลา เขต ๒ ท่านดร.สมคิด หาแก้ว รองผอ.สพป.ยะลา เขต ๒ พร้อมด้วยผู้เขียนได้มารับตำแหน่งพร้อมเพรียงกันเมื่อเดือนพฤศจิกายนในปีที่ผ่านมา เราไม่มีเวลาที่ภาษาเชิงการเมืองชอบเปรียบเปรยนั้นก็คือไปฮันนี่มูนด้วยกันหลังจากรับตำแหน่งใหม่ๆ เมื่อได้รับมอบหมายงานในหน้าที่ต่างๆ แต่ละคนก็มุ่งมั่นปฏิบัติหน้าที่อย่างตั้งใจ ดูละม้ายคล้ายกับคติพจน์เดียวกันอย่างชัดเจน..จงทำงานให้สนุก แล้วเราจึงสนุกกับการทำงาน

ภายใต้สโลแกน “รวดเร็ว ถูกต้อง โปร่งใส ใส่ใจบริการ” ที่ท่านผอ.เขตได้มอบให้ไว้ ในฐานะที่ผู้เขียนรับผิดชอบดูแลงานกลุ่มบุคคลอีกงานหนึ่ง ซึ่งทางสพป.ยะลา เขต ๒ มีงานสำคัญที่จะต้องร่วมกันคิดร่วมกันทำกับคณะบุคลากรจากทุกๆฝ่ายทั้งในสำนักงานเขตพื้นที่และทั้งจากสถานศึกษาในสังกัด คือการสรรหาและเลือกสรรพนักงานราชการและสรรหาลูกจ้างชั่วคราวที่จ้างจากเงินงบประมาณรายจ่าย เมื่อห้วงเวลาเดือนธันวาคมทั้งเดือนตั้งแต่วันร่วมกันประชุมวางแผน วันประกาศ วันเปิดรับสมัคร วันออกข้อสอบ วันสอบข้อเขียน วันสอบสัมภาษณ์ จนถึงวันประกาศผล จนจบกระบวนการโดยเราได้ดำเนินการตามระเบียบทุกขั้นตอน สามารถประมวลสรุปคร่าวๆให้สอดคล้องกับสโลแกนทั้ง ๔ คำ ดังนี้

“รวดเร็ว” สพป.ยะลา เขต ๒ เรา ดำเนินการอย่างรวดเร็วในการเปิดรับสมัครพนักงานราชการและลูกจ้างชั่วคราว อาจจะกล่าวได้ว่าเป็นสนามแรกในเขตพื้นที่จังหวัดภาคใต้ เพราะผู้สมัครมีจนถึงจ.สุราษฎร์ธานี
“ถูกต้อง” สังเกตได้จากผู้สมัครมีจำนวนมากกว่า ๒ พันคน แต่เมื่อถึงขั้นตอนตรวจสอบคุณสมบัติ เราได้ตรวจสอบอย่างเคร่งครัด ไม่มีการลดหย่อนแม้จะรู้จักกับผอ.เขต รองผอ.เขต หรือเจ้าหน้าที่บางคน จนเหลือผู้สมัครทั้งสิ้น ๑๙๘๐ คน
“โปร่งใส” ใช้ระบบคุณธรรม ไม่มีอุปถัมป์ ภายใต้รัฐธรรมนูญเดียวกันทุกคนมีความเสมอภาค ใครอยู่จังหวัดใดสามารถมาสมัครได้เพราะเราเปิดกว้างไม่ปิดกั้น จึงไม่แปลกผู้ที่ได้รับคัดเลือกในครั้งนี้มีทั้งมาจากจ.พังงา นครศรีฯ สตูล พัทลุง สงขลา รวมทั้ง ๓ จชต. อาจกระทบกับคนในพื้นที่บ้างที่ได้มาเป็นจำนวนน้อย แต่อย่างน้อยเราได้คัดสรรเพชรเม็ดงามที่มีศักยภาพจริง
“ใส่ใจบริการ” ขอชื่นชมบุคลากร สพป.ยะลา เขต ๒ เป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะในช่วงวันรับสมัคร ต่างก็ทำงานจนถึงดึกดื่นเกือบทุกคืน เพื่อบริการน้องๆที่มาสมัครด้วยการเทคเเคร์ดูแลเอาใจใส่ ไม่มีคำว่าเหน็ดเหนื่อย
ถึงบรรทัดท้ายนี้ ในนามสพป.ยะลา เขต ๒ ขอขอบคุณบุคลากรทั้งในสำนักงานเขตพื้นที่และสถานศึกษาในสังกัดอีกครั้งที่ทุกฝ่ายได้ให้ความร่วมมือปฏิบัติหน้าที่ต่างๆตามที่ได้รับมอบหมายผ่านลุล่วงไปด้วยดี ขอให้ทุกท่านจงภูมิใจร่วมกันที่เราได้ร่วมกระทำในสิ่งที่เกิดความโปร่งใสให้กับสังคมบ้านเรา และนับว่าเป็นคุณงามความดีที่มีค่ายิ่งเหนือกว่าสิ่งอื่นใดที่เรามีโอกาสได้ทำงานร่วมกันเพื่อประเทศชาติของเราอย่างแท้จริง

ต่างหน้าที่..แต่มีจุดหมายเดียวกัน



         การเป็นผู้นำทางด้านการศึกษา ไม่ว่าจะอยู่ในตำแหน่งหน้าที่ใดตั้งแต่ผู้ที่เป็นครู ผู้บริหารสถานศึกษา ผู้บริหารการศึกษา ศึกษานิเทศก์ หรือบุคลากรทางการศึกษาอื่นที่เกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษา ล้วนแต่มีจุดหมายปลายทางเดียวกันนั้นก็คือ เพื่อให้เด็กเติบโตเป็นคนดี มีปัญญา และมีความสุข

ซึ่งเป็นที่สอดคล้องกับความมุ่งหมายของพระราชบัญญัติ การศึกษาแห่งชาติ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2562
มาตรา 6 การจัดการศึกษาต้องเป็นไปเพื่อพัฒนาคนไทย ให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ ทั้งร่างกาย จิตใจ สติปัญญา ความรู้ และคุณธรรม มีจริยธรรม และวัฒนธรรมในการดำรงชีวิต สามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีความสุข จะเห็นได้ว่าเป็นภาระหน้าที่ของทุกๆฝ่ายที่จะต้องเข้ามามีบทบาทและมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการการศึกษาให้เป็นไปตามเป้าหมายของพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติที่ได้กำหนดไว้ จึงจำเป็นต้องอาศัยทั้งครู ผู้บริหารสถานศึกษา ผู้บริหารการศึกษา ศึกษานิเทศก์ หรือบุคลากรทางการศึกษาอื่นที่เกี่ยวข้อง ที่จะต้องเข้ามาส่งเสริม สนับสนุน ให้การช่วยเหลือในด้านต่างๆ เพื่อร่วมขับเคลื่อนการศึกษาให้เกิดคุณภาพอย่างมีพัฒนาการ
เมื่อพูดถึงคำว่าคุณภาพ “คุณภาพการศึกษา อยู่ที่ ห้องเรียน” คำๆนี้ผู้เขียนเห็นด้วยอย่างยิ่ง เพราะสุดท้ายครูเท่านั้นพร้อมที่จะเป็นผู้นำในห้องเรียนเพื่อที่จะรังสรรค์ให้เด็กเกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมในทางที่ดีขึ้น มีการนำเทคนิคหรือวิธีการสอนที่หลากหลายมาปรับประยุกต์ใช้ให้สอดคล้องกับศักยภาพของนักเรียนแต่ละคน จึงขอชื่นชมและเป็นกำลังใจให้กับครูผู้ทำหน้าที่อำนวยการจัดการเรียนรู้เป็นพิเศษ โดยเฉพาะคุณครูที่สามารถอ้าแขนรับกับสถานการณ์โลกที่กำลังเปลี่ยนแปลงทั้งด้านเทคโนโลยีและด้านต่างๆที่เกิดขึ้นอย่างฉับพลันและรวดเร็ว แล้วสามารถปรับวิธีการเรียนรู้เพื่อนำเด็กเข้าสู่การเป็นพลเมืองโลกในศตวรรษที่ 21 และพร้อมทั้งสามารถที่จะผลักเด็กให้เข้าสู่ชีวิตปกติวิถีใหม่ (New Normal) นับว่าเป็นสิ่งท้าทายยิ่งให้กับครูผู้สอนในยุคปัจจุบัน
ในฐานะที่ผู้เขียนเคยทำหน้าที่เป็นครูและผู้บริหารสถานศึกษา มาวันนี้ในฐานะที่เป็นผู้ประสานงานระหว่างหน่วยงานการศึกษากับหน่วยงานสถานศึกษา ในตำแหน่งรองผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ซึ่งมีคนได้เปรียบเปรยไว้ว่า อยู่โรงเรียนเปรียบเสมือนปลูกต้นไม้ได้เพียง 1 ต้น แต่อยู่เขตพื้นที่เปรียบเสมือนได้ปลูกป่า ผู้เขียนจึงมีความตั้งใจอย่างแน่วแน่ขออาสาเป็นอีกแรงหนึ่งพร้อมที่จะร่วมขับเคลื่อนงานการศึกษาไปด้วยกันกับทุกๆฝ่ายที่เกี่ยวข้อง โดยภายใต้นโยบายสำคัญของท่านดร.อาดุลย์ พรมแสง ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษายะลา เขต 2 ซึ่งมี 12 ข้อ ดังต่อไปนี้
1. เพิ่มผลสัมฤทธิ์
2. พิชิตอ่านเขียน
3. โรงเรียนน่าอยู่
4. เชิดชูคุณธรรม
5. นัอมนำหลักปรัชญาฯ
6. ส่งเสริมภาษาสู่สากล
7. ผลงานประจักษ์ชัด
8. เร่งรัดนิเทศภายใน
9. ใส่ใจระบบประกัน
10. สร้างสรรค์ความร่วมมือ
11. ฝึกปรือความพร้อมปฐมวัย
12. ก้าวไกลเทคโนโลยี
พร้อมด้วยค่านิยมพื้นฐานของหน่วยงานนั้นคือ..
รวดเร็ว ถูกต้อง โปร่งใส ใส่ใจบริการ
Fast Correct Transparent and Service Mind