วันพุธที่ 18 เมษายน พ.ศ. 2555

บันทึกการนิเทศภายใน..หัวใจอยู่ที่เด็ก : 7

                                             ครั้งที่ ปีการศึกษา ๒๕๕๒

          ตั้งแต่มีการปฏิรูปการเรียนรู้ตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๒ มีหนังสือพิมพ์ วารสารหรือสิ่งตีพิมพ์ต่างๆ ได้ให้ความสำคัญกับการนำเสนอคอลัมน์ด้านการจัดการองค์ความรู้ อย่างเมื่อเร็วๆนี้ หนังสือพิมพ์มติชนรายวันได้เผยแพร่คอลัมน์โรงเรียนเข็มแข็งด้วยการจัดการ ความรู้ (Healthy School by Knowledge Management) ทุกวันพฤหัสบดีในหน้าการศึกษา จึงเป็นคอลัมน์ที่น่าติดตามอย่างยิ่งสำหรับคนที่ทำงานด้านการศึกษาหรืออาชีพครูอย่างเรา

          ขอยกตัวอย่างเรื่องเล่าเร้าพลัง (Story Telling) จากคณะครูโรงเรียนบ้านคำสำราญ จังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งทางมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาการเรียนรู้ (มสวร.) ได้ไปร่วมจัดการความรู้ในประเด็น “วิธีการช่วยเหลือนักเรียนที่มีปัญหาด้านการเรียนรู้” สรุปเป็นวิธีปฏิบัติได้ ๔ ประการ คือ
๑. การวิเคราะห์ผู้เรียน โดยใช้เครื่องมือให้เหมาะสมตามกลุ่มสาระและพฤติกรรมของผู้เรียน ๑.๑) การใช้แบบทดสอบ ครูธัญลักษณ์ เล่าว่า มีเด็กที่ดิฉันสอนหลายคนจะมีปัญหาในการอ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ ดิฉันจึงใช้วิธีการนำแบบฝึกชุดที่ ๑-๓ ของสพฐ. ให้เด็กฝึกทำและท่องพยัญชนะอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งได้แยกเด็กเก่ง ปานกลาง อ่อน ออกเป็นกลุ่ม ให้ฝึกอ่านคำพื้นฐาน
๑.๒) การสังเกตพฤติกรรมของเด็ก ครูพิชานันท์ เล่าว่า ทำไม ด.ช.บวร และ ด.ช.ณัฐพล ไม่ชอบอ่านและเขียนหนังสือ ไม่สนใจเรียน เมื่อสังเกตพบว่าเด็กทั้งสองชอบร้องเพลง ฟังเพลง ครูจึงเขียนเนื้อเพลงบนกระดานให้อ่าน ร้อง และเขียนตาม แล้วก็เริ่มเห็นเด็กทั้งสองสนใจที่จะอ่าน และเขียน
๒. การใช้สื่อประกอบกิจกรรม ๒.๑) การใช้ภาพประกอบ ดังครูสำนวน เล่าว่า เด็กในห้องสองคนที่มีความสามารถในการวาดภาพแต่ไม่สนใจการเรียน ครูจึงให้เด็กวาดภาพตามและให้เล่าเรื่องประกอบจากภาพวาดโดยใช้จินตนาการจาก เด็กเอง ๒.๒) การใช้สื่อประกอบการสอน ครูจรีย์ เล่าว่า ดิฉันใช้เพลงพร้อมการแสดงท่าทางประกอบ โดยให้เด็กฝึกอ่าน เขียน กล้าแสดงออก
๓. การแก้ปัญหาพฤติกรรมนักเรียนโดยใช้หลากหลายวิธี ๓.๑) การใช้เพื่อนช่วยเพื่อน
ครูชิตร เล่าว่า ด.ญ.พัชรมณ์ไม่ค่อยพูด ครูจึงให้เพื่อนสนิทสื่อสารกับเขาแทนครู และครูให้เพื่อนคอยช่วยเหลือจนสามารถอ่านออกเขียนได้ ๓.๒) การให้แรงเสริม ครูธัญลักษณ์ เล่าว่า ดิฉันมีการกระตุ้นคือให้กำลังใจ เช่น อายเพื่อน ๕ นาที ดีกว่าอายเพื่อนตลอดชีวิต
๔. การประเมินผลก่อน-หลัง ด้วยวิธีการที่หลากหลาย อย่างเช่น การเน้นการประเมินตามสภาพจริง ครูพนิตศนีย์ เล่าว่า ดิฉันมีการประเมินเด็กอ่านไม่ออก เขียนไม่ได้โดยใช้แบบฝึกคำพื้นฐาน ชุดละ ๖๐ คำ แล้วทดสอบเด็กโดยให้นำคำ ๑๐ คำมาแต่งประโยค
          เป็นเพียงข้อสรุปในการแก้ปัญหาด้านการจัดการเรียนของครูโรงเรียนบ้านคำ สำราญที่ได้จากการปฏิบัติจริง ยังมีเรื่องเล่าเร้าพลังที่น่าสนใจอีกมากมาย ติดตามอ่านเพิ่มเติมได้ที่www.lrd.in.th
บันทึกไว้ เมื่อวันศุกร์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน ๒๕๕๒

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น