วันอังคารที่ 17 เมษายน พ.ศ. 2555

บันทึกการนิเทศภายใน..หัวใจอยู่ที่เด็ก : 5

ครั้งที่ ปีการศึกษา ๒๕๕๒
          สัปดาห์ที่แล้วว่าด้วยแนวคิดการทำงานของคุณหญิงกษมา วรวรรณ ณ อยุธยา หากใครมีโอกาสได้เข้าไปในเว็บไซต์อ่านบล็อกพบกันทุกวันอังคาร คงจะได้รับข้อคิดและวิธีการจัดการองค์ความรู้ที่หลากหลายเพื่อที่จะนำไปประยุกต์ใช้กับตำแหน่งหน้าที่ของตนเองได้อย่างเหมาะสมและสอดรับกับบริบทของสถานศึกษาที่เราได้ร่วมปฏิบัติงานอยู่ด้วยกัน อย่างในวันอังคารของสัปดาห์นี้ท่านได้จบท้ายด้วยการแนะนำให้อ่านบทความครูดีที่สังคมถวิลหาของดร.วรากรณ์ สามโกเศศ บังเอิญว่าบทความเรื่องนี้ได้พิมพ์เผยแพร่ลงในหนังสือพิมพ์มติชนฉบับวันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๕๒ จึงขอสรุปคุณลักษณะสำคัญของครูดีที่สังคมต้องการไว้ตรงนี้อีกครั้ง ดังนี้

          ประการแรก ครูที่ดีคือครูที่รักมนุษย์ มีความปรารถนาดีอย่างจริงใจต่อเด็ก ถ้าใครไม่มีสิ่งนี้อยู่ในหัวใจจงอยู่ห่างไกลอาชีพครูให้มากที่สุด
          ประการที่สอง ครูที่ดีใฝ่หาความรู้และพัฒนาตนเองอยู่เสมอเมื่อไม่แน่ใจเรื่องที่สอนก็ขวนขวายหาความรู้จนชัดเจนเพื่อนำไปสอนเด็ก ไม่มีใครรู้ทุกเรื่องโดยเฉพาะอย่างยิ่งในสภาวะปัจจุบันที่องค์ความรู้ขยายตัวอย่างรวดเร็ว ครูที่หยุดนิ่งก็มีแต่ครูที่ขาดลมหายใจหรือตายแล้วเท่านั้น
          ประการที่สาม ครูที่ดีเป็นผู้มีหลักการในการครองชีวิตที่ดี เป็นตัวอย่างแห่งคุณธรรม มีหลักเกณฑ์ในการดำเนินชีวิตและมีมาตรฐานของเกณฑ์การวัดผลซึ่งคงที่คงวา
          ประการที่สี่ ครูที่ดีเป็นธรรมเสมอหน้า ใส่ใจและให้ความรู้เด็กทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน ไม่ว่าศิษย์จะเก่งหรือไม่เก่ง จะรวยหรือจน ฯลฯ ไม่เลือกที่รักมักที่ชังอย่างมีอคติเพราะเหตุใดก็แล้วแต่
          ประการที่ห้า ครูที่ดีต้องเป็นมิตรกับเด็ก พูดจามีเหตุผล ไม่เจ้าอารมณ์ มีความสามารถทำให้เด็กเกิดความไว้วางใจอันเป็นปัจจัยที่สามารถควบคุมชั้นเรียนจนเกิดการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพ
          ประการที่หก ครูที่ดีเป็นผู้สร้างบรรยากาศและเอื้ออำนวยให้เกิดการเรียนรู้ของเด็กซึ่งสำคัญกว่าการสอน หากเด็กเกิดความอยากรู้อยากเห็น ศรัทธาในการมีความรู้แล้ว เด็กจะสามารถไขว่คว้าหาความรู้ด้วยตนเองอย่างไม่รู้จบ
          ประการที่เจ็ด ครูดีต้องเป็นผู้ยั่วยุ กระตุ้นให้เด็กคิด เด็กฝัน มีความทะเยอทะยาน ใฝ่ดี มีความคิดในเรื่องเข็มทิศศีลธรรม ศรัทธาในการดำเนินชีวิตตามครรลองประชาธิปไตย และในปัจจุบันจำเป็นต้องส่งเสริมและฝึกฝนให้เด็กแสดงออกความเป็นผู้นำให้ได้

          ดังที่นายอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรี ได้กล่าวการันตีไว้ว่า ระบบการศึกษาที่ดี คือ ระบบที่สามารถสร้างคนให้เป็นผู้นำได้ด้วย จึงขอฝากคุณลักษณะเจ็ดประการของครูดีที่สังคมต้องการนี้ให้กับคุณครูทุกท่านได้รับอ่านก่อนที่จะปิดภาคเรียนที่หนึ่ง พบกันใหม่ในภาคเรียนที่สอง ของปีการศึกษา ๒๕๕๒

บันทึกไว้เมื่อวันศุกร์ ที่ ตุลาคม ๒๕๕๒

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น