วันจันทร์ที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2555

"คำบอกเล่า"..ของผู้อำนวยการโรงเรียน : 4


ครั้งที่ ปีการศึกษา ๒๕๕๔
          ขอความสันติสุขจงมีแด่ทุกท่าน...วันนี้เป็นวันสิ้นปีงบประมาณ แต่ยามนี้เวลาสี่ทุ่มกว่าผมเพิ่งกลับมาถึงบ้าน มาจากศึกษาดูงานโรงเรียนต้นแบบในจังหวัดกระบี่ ยังไม่คิดที่จะพักนอน กลัวความรู้ที่ยังร้อนๆกลับกลายเป็นไอน้ำระเหยหายไปในกลีบเมฆ พร้อมหาเอกสารและเศษกระดาษที่เคยบันทึกแล้วมาเรียบเรียงจารึกเก็บไว้เป็นความทรงจำว่ามีอะไรบ้างที่เป็นปฏิบัติการสำคัญในรอบเดือนนี้
          ปฏิบัติการแรก การประชุมปฏิบัติการป้องกันและแก้ปัญหาการอ่านไม่ออกและเขียนไม่ได้ เมื่อวันที่ ๘-๙ ก.ย.๕๔ ณ โรงแรมเซาเทิร์นวิว ปัตตานี โดยผู้บริหารโรงเรียนได้รับเชิญเข้าร่วมเฉพาะวันแรกเท่านั้น นายประหยัด สุขขี รองผอ.สพป.ปัตตานี เขต ๒ ได้เล่าไว้อย่างน่าสนใจว่า สาเหตุที่ตัวท่านเองต้องอ่อนวิชาคณิตเพราะโดนครูดุด่าเกือบทุกวัน เลยทำให้มีเจตคติที่ไม่ดีต่อวิชานี้ แต่กลับมาสอนคณิตได้ดีเมื่อตอนที่มาเป็นครู เหตุเพราะไม่มีความรู้มาก่อนจึงจำเป็นต้องเตรียมตัวมาเป็นอย่างดี ในขณะที่สอนวิชาภาษาไทยกลับไม่ได้ดีด้วยเหตุที่คิดว่าเป็นวิชาเอกที่ได้ร่ำเรียนรู้มาจึงไม่ต้องเตรียมตัวแบบเข้าห้องสอนได้เลยจนลืมขั้นตอนที่สำคัญไป
          ปฏิบัติการที่สอง โครงการการพัฒนาศักยภาพบทบาทคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน เมื่อวันที่ ๒๒-๒๓ ก.ย.๕๔ ณ หาดแก้วรีสอร์ท สงขลา นายนพพร มากคงแก้ว ผอ.สพป.ปัตตานี เขต ๒ ได้สรุปสามเสาหลักที่สำคัญในการจัดการศึกษาให้ประสบผลสำเร็จนั่นคือ เขตพื้นที่ โรงเรียน และชุมชน ในขณะที่ผศ.ดร.เครือศรี วิเศษสุวรรณภูมิ วิทยากรจากมอ.ปัตตานี ทิ้งประเด็นให้ทุกคนได้ขบคิดว่าทำไม “เด็กไทยเก่งเป็นกระจุก แต่โง่เป็นกระจาย” จึงฝากความหวังให้กับสามประสานดังกล่าวว่าจะทำอย่างไร หากยังปล่อยเป็นเช่นนี้ บนเวทีอาเซียนเราไม่มีโอกาสที่จะได้เป็นผู้นำแน่นอนหรือไม่ก็ตกขอบเวทีโลกไปเลย
          ปฏิบัติการสุดท้าย การอบรมพัฒนาผู้บริหารสถานศึกษา/ศึกษาดูงานโรงเรียนต้นแบบในสพป.กระบี่ เมื่อวันที่ ๒๙-๓๐ ก.ย.๕๔ นายเรวัต มะลิสุวรรณ ผอ.รร.บ้านคลองไคร ได้ฝากข้อคิดให้กับผู้บริหารทุกท่านที่มาในวันนี้ว่า การที่จะเข้าสู่โรงเรียนคุณภาพได้นั้นเราจำเป็นที่จะต้องมีการเปลี่ยน นั่นคือ เปลี่ยนตัวเราเอง เปลี่ยนตัวครู และเปลี่ยนตัวนักเรียนให้ได้ อ่านหนังสืออย่างเดียวเราจะได้แค่ความรู้ ต้องออกไปดูข้างนอกบ้างเพื่อให้ได้พบกับประสบการณ์จริง
          ขอจบลงท้ายด้วยวันสิ้นปีงบประมาณอีกครั้ง ยังคงมีอีกหลายท่านเหมือนกับผมที่เพิ่งรู้ว่า สาเหตุปีงบประมาณของประเทศไทยเราต้องเริ่ม ๑ ตุลานั้น เพื่อให้ตรงกับความเหมาะสมของสังคมเกษตรกรรมในสมัยก่อนที่ควรออกปลายหน้าฝนแล้วก็ให้ทันใช้ในหน้าหนาวและหน้าแล้งต่อ เป็นการบอกเล่าต่อจากดร.วิษณุ เครืองาม ด้วยความที่เราอยู่หน่วยงานราชการควรที่พึงทราบที่มาที่ไป พบกันใหม่ในปีงบประมาณใหม่
                                             บันทึกไว้เมื่อวันที่ ๓๐ กันยายน ๒๕๕๔

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น