วันอังคารที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

หันมานี่โมเดล:HANMANI MODEL

                                        หลักการบริหารจัดการแบบหันมานี่โมเดล(HANMANI MODEL)
                    เน้นให้ทุกคนได้หันหน้าเข้าหากัน มาร่วมกันคิดร่วมกันทำ เพื่อนำสถานศึกษาสู่ความเป็นเลิศ

หันมานี่โมเดล ก็คือ กระบวนการบริหารงาน 7 ประการ : ที่ผู้นำทางด้านการศึกษาต้องคำนึงถึง

     1. คำนึงถึงคน (Human) หมายถึง การสรรหาคัดเลือกบุคคลที่มีศักยภาพเพียงพอเข้ามาร่วมทำงาน นับว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญ เพราะหากเราได้ทีมงานที่เก่ง และมีคุณภาพ การบริหารงานสถานศึกษาของเราก็จะมีคุณภาพตามมาด้วย ดังนั้น ทีมงานของเรา ไม่ว่าจะเป็นตัวแทนที่มาจากคณะครู ชุมชนหรือผู้ปกครองที่เป็นคณะกรรมการสถานศึกษา หรือแม้กระทั่งบุคลากร ทางการศึกษาอื่นๆที่เกี่ยวข้อง บุคคลต่างๆเหล่านี้ เราต้องคัดกรองให้ดี เฟ้นหาบุคคลที่เหมาะสม สอดคล้องกับงาน และสามารถที่จะทำงานร่วมกันได้อย่างเป็นทีม
     2. คิดปรับปรุงพัฒนา (Adjustment) หมายถึง การมองการณ์ไกล มีวิสัยทัศน์ ดูบริบทและสภาพทั่วไปของสถานศึกษา จากอดีตที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบันมีจุดแข็งและจุดอ่อนอะไรบ้าง เพื่อเป็นข้อมูลเบื้องต้นในการที่จะคิดและวางแผนให้สถานศึกษาได้รับการปรับปรุงหรือพัฒนาในทางที่ดีขึ้นเรื่อยๆ ให้เป็นไปตามลำดับ
     3. ตามความจำเป็น (Need) หมายถึง การคำนึงถึงความต้องการหรือความจำเป็นจากหลายๆฝ่ายโดยเฉพาะผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งผู้ปกครองนักเรียนและชุมชนที่อยู่ในเขตบริการ เขาต้องการและปรารถนาอยากเห็นสถานศึกษาดำเนินงานกิจการต่างๆไปในทิศทางใด อย่างไร อันนี้คนที่เป็นผู้นำทางด้านการศึกษาพึงต้องทราบและรับรู้ แล้วมาร่วมกันกำหนดนโยบายและแผนงาน เพื่อจะได้นำไปปรับปรุงและพัฒนางานให้สอดคล้องกับความต้องการจากทุกฝ่ายและตามความจำเป็นของบริบทในแต่ละพื้นที่
     4. ร่วมบริหารจัดการ (Management) หมายถึง การเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนเข้ามาบริหารจัดการการศึกษา โดยยึดระเบียบ กฎเกณฑ์ ข้อบังคับ รวมจนถึงแผนกลยุทธ์ แผนปฏิบัติการประจำปี ที่ทุกฝ่ายได้ร่วมกันกำหนดเอาไว้ ซึ่งตรงนี้ ผู้บริหารสถานศึกษาในฐานะที่เป็นตัวกลางหรือเป็นศูนย์รวมจิตใจของผู้ร่วมงานจากทุกฝ่าย ต้องคอยอำนวยให้ความสะดวก สามารถติดต่อประสานงานกับทุกๆฝ่ายได้เป็นอย่างดี มีทั้งศาสตร์และศิลป์ในการบริหารจัดการกิจการต่างๆของสถานศึกษา
     5.ให้เกิดผลสัมฤทธิ์ (Achievement) หมายถึง การตรวจสอบผลการปฏิบัติงานตามกิจกรรมและโครงการต่างๆที่แต่ละฝ่ายได้รับมอบหมาย ประสบผลสำเร็จมากน้อยแค่ไหน เป็นไปตามเป้าหมายหรือบรรลุตามวัตถุประสงค์เท่าใด และสอดคล้องกับแผนกลยุทธ์ แผนปฏิบัติการประจำปีหรือไม่ซึ่งเป็นข้อมูลพื้นฐานที่สำคัญในการที่จะทำการวิเคราะห์ วิจัย และพัฒนา ถือว่าเป็นการปรับปรุงกระบวนการทำงานอย่างต่อเนื่องอันสอดคล้องกับหลักการบริหารมุ่งคุณภาพทั้งองค์การที่ทุกคนต้องมีส่วนร่วมในทุกขั้นตอน (TQM) ทั้งนี้ ก็เพื่อให้ผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาของนักเรียนดีขึ้น และเป็นไปตามจุดมุ่งหมายที่สังคมต้องการ นั้นก็คือ นักเรียนดี เก่ง และมีสุข
     6. มีการสร้างเครือข่าย (Network) หมายถึง การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกัน ใครมีอะไรดีก็ต้อง เผยแพร่ประชาสัมพันธ์แก่ผู้ร่วมงาน มีการรวมกลุ่มสร้างศูนย์เครือข่ายสถานศึกษา รวมทั้งมีการติดต่อสื่อสารกับองค์การภายนอกทั้งหน่วยงานของรัฐและเอกชน โดยเฉพาะในยุคโลกไร้พรมแดนอย่างปัจจุบันใครมีเครือข่ายมากที่สุดมักจะได้เปรียบอยู่เสมอ
     7. เติมเต็มด้วยความรัก (I love you) หมายถึง การทำงานกับผู้ร่วมงานอย่างเป็นกัลยาณมิตร มีการเอาใจใส่ให้กำลังใจอยู่ตลอดเวลา เป็นการเสริมสร้างบรรยากาศที่ดีในสถานที่ทำงาน กระตุ้นให้ทุกคนทำงานด้วยใจรัก รักในหน้าที่การงานของตน รักทุกๆคนที่เป็นเพื่อนร่วมงาน และที่สำคัญ รักนักเรียนทุกคนดั่งลูกของตนเอง เพราะเขาเหล่านั้นคือทรัพยากรบุคคลที่มีค่ายิ่งเหนือสิ่งอื่นใด พร้อมที่จะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่ดีและมีคุณภาพต่อไปในวันข้างหน้า

บทสรุปสุดท้ายก็คือ .....คนสำราญ งานสำเร็จ

หมายเหตุ: เป็นเนื้อหาบางส่วนของบทความที่ได้รับพิจารณาคัดเลือกตีพิมพ์ลงในวารสารวิชาการ สำนักงานวิชาการและมาตรฐานการศึกษา สำนักงานคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน 
ปีที่ 14 ฉบับที่ 4 (เดือนตุลาคม-ธันวาคม 2554)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น