วันอังคารที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

ผู้บริหาร..ผู้นำทางด้านวิชาการ


          การเป็นผู้นำทางด้านวิชาการ นับว่าเป็นสิ่งสำคัญที่ผู้บริหารสถานศึกษาทั้งหลายต้องคำนึงถึงเป็นอันดับแรก เพราะการบริหารจัดการเพื่อเข้าสู่โรงเรียนคุณภาพนั้น แน่นอนต้องมุ่งที่งานวิชาการเป็นหลัก ส่วนงานอื่นๆถือว่าเป็นงานรอง หรือเป็นงานที่เกื้อหนุนให้กับงานวิชาการทั้งสิ้น ดังนั้น ใครก็ตามที่ต้องการเป็นผู้บริหารสถานศึกษาที่ประสบผลสำเร็จหรือเป็นผู้บริหารมืออาชีพ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องฝึกฝนตนเองเป็นผู้นำทางวิชาการ ส่วนการที่จะเป็นผู้นำที่ดีได้นั้น อย่างน้อยต้องมีคุณลักษณะ 10 ประการ ดังต่อไปนี้
          ประการแรก เป็นแบบอย่างของผู้นำแห่งการเปลี่ยนแปลง
          ประการที่สอง เป็นผู้อำนวยความสะดวก และสร้างแรงจูงใจให้กับทีมงาน
          ประการที่สาม เป็นนักประสานงานที่ดีกับบุคคลที่อยู่ในหน่วยงานและข้างนอก
          ประการที่สี่ เน้นการบริหารงานแบบมีส่วนร่วม
          ประการที่ห้า ส่งเสริมพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษา รวมจนถึงผู้ปกครองและคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน
          ประการที่หก ส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย
          ประการที่เจ็ด ส่งเสริมสนับสนุนการวิจัย และพัฒนา
          ประการที่แปด เผยแพร่ประชาสัมพันธ์ผลงานให้ผู้ที่เกี่ยวข้องได้รับทราบ
          ประการที่เก้า มุ่งสร้างเครือข่าย ทั้งในระดับท้องถิ่น ระดับชาติ และระดับนานาชาติ
          ประการที่สิบ มุ่งสร้างวัฒนธรรมองค์การแห่งการเรียนรู้ให้กับหน่วยงานของตนเอง
          
          คุณลักษณะการเป็นผู้นำทางวิชาการเหล่านี้ จะส่งผลต่อวิชาชีพของตนเกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลมากยิ่งขึ้น จะทำให้เรากลายเป็นผู้บริหารสถานศึกษาแบบมืออาชีพอย่างแท้จริง นอกจากนี้ เป็นการฝึกฝนให้ผู้ร่วมงานของเราเป็นผู้นำตามไปด้วย จากการที่เปิดโอกาสให้ทุกคนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารจัดการการศึกษาด้วยกัน ทั้งนี้ทั้งนั้น ก็เพื่อมุ่งเน้นให้ผู้เรียนมีคุณภาพคือ นักเรียนดี เก่ง และมีสุข เมื่อผลผลิตของเรามีคุณภาพ ชุมชนหรือผู้ที่เกี่ยวข้องก็มีความพึงพอใจ และสิ่งสำคัญที่ตามมาก็คือผลผลิตที่มีคุณภาพของเรานั้นเป็นที่ต้องการของสถาบันต่างๆที่พวกเขาจะไปศึกษาต่อ หรือสถานที่ประกอบการที่ดีๆที่พวกเขาจะเข้าไปทำงาน ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานของรัฐหรือเอกชน อันเป็นเหตุให้เราในฐานะผู้บริหารสถานศึกษาที่เป็นผู้นำทางวิชาการ มีความภาคภูมิใจเป็นอย่างยิ่ง จากการที่ได้ร่วมกันบริหารจัดการการศึกษาที่เหมาะสมและสอดคล้องกับความต้องการของสังคม

          ทั้งหมดนี้จัดว่าเป็นระบบการบริหารการศึกษาแบบมุ่งคุณภาพทั้งองค์การ (Total Quality Management) ที่บรรดาผู้บริหารสถานศึกษาหรือผู้นำทางด้านการศึกษาทั้งหลายต้องพึงตระหนัก และรู้จักนำไปประยุกต์ใช้ อันดับแรกใช้หลักคิดที่ว่า มุ่งความสำคัญให้กับลูกค้าหรือผู้เรียนเป็นหลัก (Customer Focus) จากนั้นต้องปรับปรุงกระบวนการทำงานอย่างต่อเนื่อง (Process Improvement)และที่สำคัญต้องให้ทุกภาคส่วนของสังคมเข้ามามีส่วนร่วม (Total Involvement)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น