วันพุธที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

มุมมอง..จากห้องผู้อำนวยการ : 1

ครั้งที่ ปีการศึกษา ๒๕๕๕
 
 “คิด” มุ่งไปข้างหน้า ก้าวผ่านอาเซียน เรียนรู้สู่โลกสากล                                                                                 
 “ปฏิบัติตน” ย้อนกลับมามอง สิ่งที่สอดคล้อง กับท้องถิ่นบ้านเรา    
              ถอดความเอามาเขียนสั้นๆเป็นภาษาอังกฤษก็คือ Think globally, act locally. เพียงถ้อยคำแค่ไม่กี่คำนี้มีความหมายอย่างยิ่งต่อนักเรียน คุณครู ผู้ปกครอง และชุมชนในเขตพื้นที่บริการสถานศึกษา รวมจนถึงหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้อง ที่เราต้องรวมพลังร่วมกันปลูกฝังให้ทุกคนได้เกิดการเรียนรู้และนำสู่การปฏิบัติจนเป็นกิจวัตรประจำวัน
สืบเนื่องจากปัจจุบันโลกของเราเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วและแคบลงจนกลายเป็นหนึ่งหมู่บ้านโลก(Global village) ด้วยเทคโนโลยีที่ก้าวล้ำ ทำให้ผู้คนทั่วสารทิศสามารถติดต่อสื่อสารกันได้อย่างฉับพลันทางอินเตอร์เน็ต ด้วยเหตุนี้ ระบบการบริหารจัดการทางด้านการศึกษาต้องเปลี่ยนตามไปด้วย เพื่อเป็นเครื่องมือที่จะได้ช่วยให้เราทุกคนรอดพ้นจากการเป็นกลุ่มคนที่ต้องเดินตามหลังไล่คนที่นำหน้าไปสุดไกลโพ้นจนตามไม่ทัน ในขณะเดียวกัน เราก็จำเป็นที่จะต้องหันหลังเดินวกกลับเพื่อไปแบกรับคุณงามความดีที่บรรพบุรุษของเราได้ร่วมกันสร้างเอาไว้ เป็นอีกหนึ่งหน้าที่ที่เราอนุชนคนรุ่นใหม่พึงต้องรักษาและคงไว้ซึ่งเอกลักษณ์ที่ดีและวัฒนธรรมที่สวยงามเหล่านั้นให้คงอยู่ต่อไป ตลอดจนถึงการปฏิบัติตามหลักการศาสนาที่ทุกคนเคารพและนับถืออย่างเคร่งครัด นับว่าเป็นโอกาสดีที่โรงเรียนบ้านบาตะกูโบของเราเป็นอีกหนึ่งโรงเรียนในสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาปัตตานี เขต ๒ ที่มีการพัฒนาระบบการจัดการเรียนการสอนอิสลามศึกษาแบบเข้ม เราพร้อมที่จะฝึกฝนให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้และเชิดชูคุณธรรมเป็นหลักเพื่อที่จะเสริมเติมเต็มให้ทุกคนได้กลายเป็นคนดี เก่ง และมีสุข ตามเจตนารมณ์ของพรบ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๔๒ และสอดคล้องกับความต้องการของผู้ปกครองหรือชุมชนของเราเป็นสำคัญ
จึงขอฝากความหวังอันยิ่งใหญ่นี้ให้กับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เพราะโรงเรียนของเรานี้ไม่ได้ขึ้นอยู่กับคณะครู คณะกรรมการสถานศึกษาฯ หรือผู้อำนวยการแต่เพียงฝ่ายเดียว แต่คือภาระหน้าที่ที่ทุกฝ่ายในชุมชนหรือทุกภาคส่วนในสังคมต้องเข้ามามีส่วนร่วม มีบทบาทในการจัดการการศึกษาร่วมกัน เพื่อจะได้ก้าวทันกับสภาวะการหมุนเวียนของโลกที่แปรปรวนไม่เคยหยุดนิ่ง แต่หากเราทิ้งภาระปัดความรับผิดชอบหรือหยุดอยู่กับที่ไปเมื่อไร ในอนาคตอันใกล้นี้ โรงเรียนบ้านบาตะกูโบของเราก็จะหลุดโคจรตกขอบจากเวทีโลกไปเลยในเรื่องของการบริหารจัดการองค์ความรู้

วันอังคารที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

ผู้บริหาร..ผู้นำทางด้านวิชาการ


          การเป็นผู้นำทางด้านวิชาการ นับว่าเป็นสิ่งสำคัญที่ผู้บริหารสถานศึกษาทั้งหลายต้องคำนึงถึงเป็นอันดับแรก เพราะการบริหารจัดการเพื่อเข้าสู่โรงเรียนคุณภาพนั้น แน่นอนต้องมุ่งที่งานวิชาการเป็นหลัก ส่วนงานอื่นๆถือว่าเป็นงานรอง หรือเป็นงานที่เกื้อหนุนให้กับงานวิชาการทั้งสิ้น ดังนั้น ใครก็ตามที่ต้องการเป็นผู้บริหารสถานศึกษาที่ประสบผลสำเร็จหรือเป็นผู้บริหารมืออาชีพ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องฝึกฝนตนเองเป็นผู้นำทางวิชาการ ส่วนการที่จะเป็นผู้นำที่ดีได้นั้น อย่างน้อยต้องมีคุณลักษณะ 10 ประการ ดังต่อไปนี้
          ประการแรก เป็นแบบอย่างของผู้นำแห่งการเปลี่ยนแปลง
          ประการที่สอง เป็นผู้อำนวยความสะดวก และสร้างแรงจูงใจให้กับทีมงาน
          ประการที่สาม เป็นนักประสานงานที่ดีกับบุคคลที่อยู่ในหน่วยงานและข้างนอก
          ประการที่สี่ เน้นการบริหารงานแบบมีส่วนร่วม
          ประการที่ห้า ส่งเสริมพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษา รวมจนถึงผู้ปกครองและคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน
          ประการที่หก ส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย
          ประการที่เจ็ด ส่งเสริมสนับสนุนการวิจัย และพัฒนา
          ประการที่แปด เผยแพร่ประชาสัมพันธ์ผลงานให้ผู้ที่เกี่ยวข้องได้รับทราบ
          ประการที่เก้า มุ่งสร้างเครือข่าย ทั้งในระดับท้องถิ่น ระดับชาติ และระดับนานาชาติ
          ประการที่สิบ มุ่งสร้างวัฒนธรรมองค์การแห่งการเรียนรู้ให้กับหน่วยงานของตนเอง
          
          คุณลักษณะการเป็นผู้นำทางวิชาการเหล่านี้ จะส่งผลต่อวิชาชีพของตนเกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลมากยิ่งขึ้น จะทำให้เรากลายเป็นผู้บริหารสถานศึกษาแบบมืออาชีพอย่างแท้จริง นอกจากนี้ เป็นการฝึกฝนให้ผู้ร่วมงานของเราเป็นผู้นำตามไปด้วย จากการที่เปิดโอกาสให้ทุกคนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารจัดการการศึกษาด้วยกัน ทั้งนี้ทั้งนั้น ก็เพื่อมุ่งเน้นให้ผู้เรียนมีคุณภาพคือ นักเรียนดี เก่ง และมีสุข เมื่อผลผลิตของเรามีคุณภาพ ชุมชนหรือผู้ที่เกี่ยวข้องก็มีความพึงพอใจ และสิ่งสำคัญที่ตามมาก็คือผลผลิตที่มีคุณภาพของเรานั้นเป็นที่ต้องการของสถาบันต่างๆที่พวกเขาจะไปศึกษาต่อ หรือสถานที่ประกอบการที่ดีๆที่พวกเขาจะเข้าไปทำงาน ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานของรัฐหรือเอกชน อันเป็นเหตุให้เราในฐานะผู้บริหารสถานศึกษาที่เป็นผู้นำทางวิชาการ มีความภาคภูมิใจเป็นอย่างยิ่ง จากการที่ได้ร่วมกันบริหารจัดการการศึกษาที่เหมาะสมและสอดคล้องกับความต้องการของสังคม

          ทั้งหมดนี้จัดว่าเป็นระบบการบริหารการศึกษาแบบมุ่งคุณภาพทั้งองค์การ (Total Quality Management) ที่บรรดาผู้บริหารสถานศึกษาหรือผู้นำทางด้านการศึกษาทั้งหลายต้องพึงตระหนัก และรู้จักนำไปประยุกต์ใช้ อันดับแรกใช้หลักคิดที่ว่า มุ่งความสำคัญให้กับลูกค้าหรือผู้เรียนเป็นหลัก (Customer Focus) จากนั้นต้องปรับปรุงกระบวนการทำงานอย่างต่อเนื่อง (Process Improvement)และที่สำคัญต้องให้ทุกภาคส่วนของสังคมเข้ามามีส่วนร่วม (Total Involvement)

คุณภาพสิ่งแวดล้อม..ก็คือคุณภาพของประเทศ


          ทั่วทุกมุมโลกต่างก็คงยอมรับและเห็นพ้องต้องกันแล้วว่า ประเทศที่ได้รับการพัฒนาอย่างสมบูรณ์แบบนั้น เราจะไม่ดูแต่เฉพาะการใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย หรือเศรษฐกิจดีประชากรมีรายได้สูงเท่านั้น หากแต่ว่ายังมีอีกสิ่งหนึ่งซึ่งเราควรต้องคำนึงถึง นั่นคือ คุณภาพสิ่งแวดล้อม          
          ญี่ปุ่นคือประเทศหนึ่งที่ตระหนักในเรื่องนี้เป็นอย่างดี อาจเป็นเพราะว่าเคยได้รับบทเรียนสิ่งแวดล้อมเป็นพิษจากโรงงานอุตสาหกรรมเมื่อสี่สิบกว่าปีที่ผ่านมาหรืออาจจะเป็นเพราะอะไรก็แล้วแต่ แค่ก้าวแรกที่ผมได้เหยียบลงบนผืนแผ่นดินแห่งนี้ที่สนามบินนารีตะ ได้เห็นขยะจำนวนหลายใบที่มีการแยกประเภท ก็เป็นที่ประจักษ์ชัดเจนแล้วว่า ทุกวันนี้ญี่ปุ่นมีความเป็นห่วงต่อสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจัง          
          ถัดจากนั้นผมก็ได้ตั้งข้อสังเกตอีกหลายอย่างที่ได้ประสบพบเห็น คนญี่ปุ่นเดินมากเป็นว่าเล่น หรือบางคนก็ขี่จักรยานเป็นพาหนะในการไปทำงาน นับว่าเป็นการบรรเทามลพิษทางอากาศได้ดียิ่ง และสิ่งที่ผมคิดว่าเป็นเรื่องที่น่าทึ่งมากก็คือ การที่ได้มีการคิดค้น เอาขยะ น้ำเสีย หรือสิ่งปฏิกูลอื่นๆ มารีไซเคิลไปใช้ประโยชน์ได้ใหม่ หลังจากที่ได้ไปศึกษาดูงานที่สถานที่บำบัดน้ำเสียในกรุงโตเกียว รวมจนถึงมีการคิดค้นแปลงน้ำฝนกลับมาใช้ได้อีกในเขตสุมิดากุ ยังมีอีกหลายแห่งที่ผมไม่ได้กล่าวไว้ ณ โอกาสนี้ แต่บอกได้เลยว่า ทุกส่วนของสังคมไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ เอกชน หรือประชาชนทุกสาขาอาชีพ ต่างก็คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมเป็นสำคัญ แม้แต่การดำเนินงานทางด้านธุรกิจของทุกบริษัทก็ยังต้องมีหลักประกันทางด้านสิ่งแวดล้อมเข้ามาเกี่ยวข้อง หากไม่เช่นนั้นบริษัทจะอยู่ไม่รอดหากไม่มีการกำหนดนโยบายเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมหรือการกำหนดมาตรการที่ใส่ใจให้กับสิ่งแวดล้อมมาเป็นตัวตั้ง
          ด้วยเหตุนี้กระมังที่บ้านเรือนและถนนทั้งสองข้างทางดูสะอาดเรียบร้อย มีต้นไม้เกือบทุกสาย มีสวนสาธารณะเกือบทุกพื้นที่ มองเห็นทุ่งนาและภูเขาเขียวขจีเต็มไปหมด และที่ผมแอบปลื้มในใจอดที่จะคิดถึงไม่ได้ที่นอกเหนือจากความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติแล้วก็คือ คุณภาพของทรัพยากรมนุษย์ กว่ายี่สิบวันที่ผมได้มาอยู่ที่นี่ คนญี่ปุ่นมีน้ำใจมาก ไม่แบ่งพรรคแบ่งพวก ไม่ดูถูกดูแคลนผิวสีหรือกลุ่มชาติพันธุ์ และที่สำคัญ มีนิสัยขยัน มุ่งมั่น ตรงต่อเวลา ก็สมควรแล้วที่มีผู้คนเขาพูดว่าเป็นประเทศที่เจริญก้าวหน้าอย่างแท้จริง
          แบบอย่างที่ดีเหล่านี้ผมจะพยายามนำไปประยุกต์ใช้ในสถานที่ทำงานต่อไป จุดเริ่มแรกก็คือเล่าให้กับเพื่อนร่วมงานและบรรดาลูกศิษย์ลูกหาทั้งหลาย เพื่อสร้างจิตสำนึกในการอนุรักษ์ปกป้องสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของหน่วยการเรียนรู้ที่ผมได้สอนอีกด้วย และคิดว่าทุกหน่วยงานไม่ว่าจะเป็นระดับท้องถิ่นจนถึงระดับชาติในหลายๆประเทศหรือทั่วทุกมุมโลกคงจะตระหนักใส่ใจในเรื่องนี้เป็นอย่างดี เพราะคุณภาพของสิ่งแวดล้อมนั้นถือว่าคือหน้าตาของประเทศชาติเฉกเช่นเดียวกัน

หมายเหตุ บทความเรื่องนี้ได้รับการตีพิมพ์ลงในวารสาร "ข่าวสารการศึกษา" สพท.นราธิวาส เขต ๑ ฉบับที่ ๑๓ ประจำเดือนกันยายน พ.ศ. ๒๕๔๗ เขียนไว้หลังจากกลับดูงานด้านการจัดการสิ่งแวดล้อม ณ ประเทศญี่ปุ่น ปี ๒๕๔๗ โดยทุนองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งชาติญี่ปุ่น



"ญี่ปุ่นให้ความสำคัญกับการศึกษา เพื่อสร้างคนให้มีคุณภาพ และนำคนเหล่านี้ไปสร้างชาติอีกต่อหนึ่งจนประสบผลสำเร็จอย่างน่าทึ่ง ประเทศไทยเราจึงต้องยกระดับการศึกษาของผู้คนในประเทศให้เท่าเทียมกับอารยประเทศเฉกเช่นเดียวกัน"
                                           คุณลักษณะเด่นของคนญี่ปุ่น 10 ประการ

1. ชอบอ่านหนังสือ
2. ช่างคิดช่างสร้างสรรค์   
3. การตรงต่อเวลา   
4. ความสะอาดเป็นระเบียบเรียบร้อย
5. การอ่อนน้อมถ่อมตน ไม่พูดโอ้อวด
6. ความซื่อสัตย์ สุจริต ไม่คดโกง     
7. การทำงานอย่างกระตือรือร้น
8. พิถีพิถันเอาใจใส่ในรายละเอียดต่างๆ เล็กๆ น้อยๆ
9. แยกแยะเรื่องส่วนตัวและความรับผิดชอบในหน้าที่
10. การทำงานเป็นทีมแบบรวมกลุ่มOne for all & all for one.

หันมานี่โมเดล:HANMANI MODEL

                                        หลักการบริหารจัดการแบบหันมานี่โมเดล(HANMANI MODEL)
                    เน้นให้ทุกคนได้หันหน้าเข้าหากัน มาร่วมกันคิดร่วมกันทำ เพื่อนำสถานศึกษาสู่ความเป็นเลิศ

หันมานี่โมเดล ก็คือ กระบวนการบริหารงาน 7 ประการ : ที่ผู้นำทางด้านการศึกษาต้องคำนึงถึง

     1. คำนึงถึงคน (Human) หมายถึง การสรรหาคัดเลือกบุคคลที่มีศักยภาพเพียงพอเข้ามาร่วมทำงาน นับว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญ เพราะหากเราได้ทีมงานที่เก่ง และมีคุณภาพ การบริหารงานสถานศึกษาของเราก็จะมีคุณภาพตามมาด้วย ดังนั้น ทีมงานของเรา ไม่ว่าจะเป็นตัวแทนที่มาจากคณะครู ชุมชนหรือผู้ปกครองที่เป็นคณะกรรมการสถานศึกษา หรือแม้กระทั่งบุคลากร ทางการศึกษาอื่นๆที่เกี่ยวข้อง บุคคลต่างๆเหล่านี้ เราต้องคัดกรองให้ดี เฟ้นหาบุคคลที่เหมาะสม สอดคล้องกับงาน และสามารถที่จะทำงานร่วมกันได้อย่างเป็นทีม
     2. คิดปรับปรุงพัฒนา (Adjustment) หมายถึง การมองการณ์ไกล มีวิสัยทัศน์ ดูบริบทและสภาพทั่วไปของสถานศึกษา จากอดีตที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบันมีจุดแข็งและจุดอ่อนอะไรบ้าง เพื่อเป็นข้อมูลเบื้องต้นในการที่จะคิดและวางแผนให้สถานศึกษาได้รับการปรับปรุงหรือพัฒนาในทางที่ดีขึ้นเรื่อยๆ ให้เป็นไปตามลำดับ
     3. ตามความจำเป็น (Need) หมายถึง การคำนึงถึงความต้องการหรือความจำเป็นจากหลายๆฝ่ายโดยเฉพาะผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งผู้ปกครองนักเรียนและชุมชนที่อยู่ในเขตบริการ เขาต้องการและปรารถนาอยากเห็นสถานศึกษาดำเนินงานกิจการต่างๆไปในทิศทางใด อย่างไร อันนี้คนที่เป็นผู้นำทางด้านการศึกษาพึงต้องทราบและรับรู้ แล้วมาร่วมกันกำหนดนโยบายและแผนงาน เพื่อจะได้นำไปปรับปรุงและพัฒนางานให้สอดคล้องกับความต้องการจากทุกฝ่ายและตามความจำเป็นของบริบทในแต่ละพื้นที่
     4. ร่วมบริหารจัดการ (Management) หมายถึง การเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนเข้ามาบริหารจัดการการศึกษา โดยยึดระเบียบ กฎเกณฑ์ ข้อบังคับ รวมจนถึงแผนกลยุทธ์ แผนปฏิบัติการประจำปี ที่ทุกฝ่ายได้ร่วมกันกำหนดเอาไว้ ซึ่งตรงนี้ ผู้บริหารสถานศึกษาในฐานะที่เป็นตัวกลางหรือเป็นศูนย์รวมจิตใจของผู้ร่วมงานจากทุกฝ่าย ต้องคอยอำนวยให้ความสะดวก สามารถติดต่อประสานงานกับทุกๆฝ่ายได้เป็นอย่างดี มีทั้งศาสตร์และศิลป์ในการบริหารจัดการกิจการต่างๆของสถานศึกษา
     5.ให้เกิดผลสัมฤทธิ์ (Achievement) หมายถึง การตรวจสอบผลการปฏิบัติงานตามกิจกรรมและโครงการต่างๆที่แต่ละฝ่ายได้รับมอบหมาย ประสบผลสำเร็จมากน้อยแค่ไหน เป็นไปตามเป้าหมายหรือบรรลุตามวัตถุประสงค์เท่าใด และสอดคล้องกับแผนกลยุทธ์ แผนปฏิบัติการประจำปีหรือไม่ซึ่งเป็นข้อมูลพื้นฐานที่สำคัญในการที่จะทำการวิเคราะห์ วิจัย และพัฒนา ถือว่าเป็นการปรับปรุงกระบวนการทำงานอย่างต่อเนื่องอันสอดคล้องกับหลักการบริหารมุ่งคุณภาพทั้งองค์การที่ทุกคนต้องมีส่วนร่วมในทุกขั้นตอน (TQM) ทั้งนี้ ก็เพื่อให้ผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาของนักเรียนดีขึ้น และเป็นไปตามจุดมุ่งหมายที่สังคมต้องการ นั้นก็คือ นักเรียนดี เก่ง และมีสุข
     6. มีการสร้างเครือข่าย (Network) หมายถึง การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกัน ใครมีอะไรดีก็ต้อง เผยแพร่ประชาสัมพันธ์แก่ผู้ร่วมงาน มีการรวมกลุ่มสร้างศูนย์เครือข่ายสถานศึกษา รวมทั้งมีการติดต่อสื่อสารกับองค์การภายนอกทั้งหน่วยงานของรัฐและเอกชน โดยเฉพาะในยุคโลกไร้พรมแดนอย่างปัจจุบันใครมีเครือข่ายมากที่สุดมักจะได้เปรียบอยู่เสมอ
     7. เติมเต็มด้วยความรัก (I love you) หมายถึง การทำงานกับผู้ร่วมงานอย่างเป็นกัลยาณมิตร มีการเอาใจใส่ให้กำลังใจอยู่ตลอดเวลา เป็นการเสริมสร้างบรรยากาศที่ดีในสถานที่ทำงาน กระตุ้นให้ทุกคนทำงานด้วยใจรัก รักในหน้าที่การงานของตน รักทุกๆคนที่เป็นเพื่อนร่วมงาน และที่สำคัญ รักนักเรียนทุกคนดั่งลูกของตนเอง เพราะเขาเหล่านั้นคือทรัพยากรบุคคลที่มีค่ายิ่งเหนือสิ่งอื่นใด พร้อมที่จะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่ดีและมีคุณภาพต่อไปในวันข้างหน้า

บทสรุปสุดท้ายก็คือ .....คนสำราญ งานสำเร็จ

หมายเหตุ: เป็นเนื้อหาบางส่วนของบทความที่ได้รับพิจารณาคัดเลือกตีพิมพ์ลงในวารสารวิชาการ สำนักงานวิชาการและมาตรฐานการศึกษา สำนักงานคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน 
ปีที่ 14 ฉบับที่ 4 (เดือนตุลาคม-ธันวาคม 2554)